วันนี้ (12 ต.ค.61) นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการจับกุมชาวเวียดนาม 2 คน ลักลอบนำเข้าซากเสือ และชิ้นส่วนอวัยวะเสือโคร่ง ถูกตำรวจจับกุมได้ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ซากเสือโคร่งทั้งหมดที่ยึดได้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ (เสือโคร่ง) รมควัน จำนวน 16 ชิ้น เขี้ยวเสือโคร่ง 4 ชิ้น จำนวน 1 ถุง
เนื้อเสือโคร่งรมควัน จำนวน 4 ถุง ไขมันสัตว์จำนวน 1 ขวดอวัยวะเพศสัตว์จำนวน 1 ชิ้น ทางตำรวจได้นำมาส่งตรวจที่หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยาน เพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอว่าเป็นสายพันธ์ุเสือที่มาจากป่าประเทศไทยหรือเพื่อนบ้าน เพื่อขยายผลในการดำเนินคดีต่อไป คาดว่าจะรู้ผลภายใน 1 เดือน
ทั้งนี้ หากพบว่าเสือสายพันธ์ุอื่น ก็จะนำข้อมูลส่งต่อให้หน่วยงานประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แต่หากตรวจพบว่าเป็นเสือไทย ก็จะขยายผลว่าเป็นเสือในพื้นที่ใด ป่าเขตไหน และมีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง
นายสมโภชน์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า จากการให้การของชาวเวียดนามทั้ง 2 คน ซึ่งระบุว่าเดินทางมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก แต่บนตั๋วโดยสารพบว่าพบว่า ต้นทางคือตัวเมือง จ.ตาก ปลายทาง จ.มุกดาหาร ซึ่งหมายความว่ามีการพักที่จ.ตาก ก่อนเดินทาง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องขยายผลต่อไป
ใช้รถทัวร์ขนซากสัตว์เลี่ยงเจ้าหน้าที่
ในการเดินทางโดยใช้รถโดยสาร เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเดิมที่มักใช้รถส่วนตัว และคาดว่าการลักลอบขนซากเสือเช่นนี้มักที่จะมีรถนำในการเดินทางจึงทำให้จับกุมได้ยาก และเมื่อถูกจับก็จะคุมตัวได้เพียงผู้รับจ้างขนซากเสือเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเดินทางถึงปลายทาง ที่ จ.มุกดาหาร โดยใช้เวลา 2-3 วัน
คนกลุ่มนี้จะยังคงเป็นกลุ่มเดิม คาดว่าจะเชื่อมโยงกับการจับกุมคดีล่าเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งเมื่อปี 2554 และคดีอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่มักที่จะเป็นกลุ่มเดียวกัน ผู้ต้องหาบางส่วนที่จับกุมได้และส่งประเทศต้นทางไปดำเนินคดี ต่อมาถูกจับกุมอีกครั้งพบว่ามีการเปลี่ยนชื่อและกลับเข้าไทยเพื่อก่อเหตุอีก
ไทยคดี "ฆ่า-ค้าเสือ" ลด แต่ยังถูกใช้เป็นทางผ่าน
ขณะที่ไทยเป็นเส้นทางผ่านเท่านั้น โดยเส้นทางจากภาคตะวันตกของไทย ถือว่าเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งเสือไปยังปลายทางประเทศเวียดนาม เนื่องจากยังมีการล่าเสือจากประเทศต้นทางทั้งอินเดียและเมียนมา รวมถึงยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเนื่องจากพื้นที่ป่าตะวันตกของไทยถือว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีเสือจำนวนมากจึงเป็นที่ต้องการของนายทุนและพรานที่ลักลอบเข้ามาล่าเสือ
นโยบายการปราบปรามการล่าสัตว์ป่าของไทยถือว่าค่อนข้างเข้มงวดที่สุด ในอาเซียนและไม่ใช่ประเทศต้นทางหรือปลายทาง แต่อาจถูกมองว่าเป็นเส้นทางในการลักลอบค้าสัตว์เพราะด้วยเส้นทางเป็นทางผ่านไปยังประเทศอาเซียน ซึ่งมีกรมอุทยานฯความพยายามร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่า
ทั้งนี้ จากสถิติการจับกุมคดีสัตว์ของไทยย้อนหลังปี 60 มีคดีสัตว์ป่า รวม 554 คดีและปี 61 มีคดีสัตว์ป่า 518 คดี โดยเป็นคดีเกี่ยวกับเสือในปี 59 จำนวน 7 คดี ปี 60 จำนวน 2 คดี และปี 61 จำนวน 4 คดี ซึ่งภาพรวมถือว่าคดีลดลง
อ่านข่าวเพิ่มเติม