ชาวบ้านจากหมู่บ้านราชธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอความชัดเจนเพราะกังวลว่า อาจมีการโอนที่ดินของหมู่บ้านกลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ หลังศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาจำคุกนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ 2 ปี ในคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ฐานจงใจตีความโดยใช้กฎหมายผิดเพี้ยนไปจากความเห็นกฤษฎีกาและฝ่าฝืนมติ ครม.
แต่หากร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ มีผลบังคับใช้ ชาวบ้านกลุ่มนี้จะเป็น 1 ในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ เพราะมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร 2 แปลงรวมกว่า 924 ไร่ ที่ได้รับตามพินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2533 ส่วนมาตรา 4 กำหนดให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและการดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเกี่ยวกับโฉนดทั้ง 2 แปลง ซึ่งได้กระทำภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 3 จนถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับมีผลย้อนหลังให้การโอนที่ดินครั้งนั้น
นอกจากจะเป็นวันที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ได้จดทะเบียนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดกในโฉนดที่ดิน เป็นชื่อมูลนิธิฯ พร้อมจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกเป็นชื่อของมูลนิธิฯแล้ว ยังเป็นวันเดียวกับที่มีการจดทะเบียนโอนขายให้กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งเคยผิดกฎหมาย กลายเป็นถูกกฎหมาย
เปรียบเหมือนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง ๆ ที่เพิ่งมีคำพิพากษาของศาล โดยจะมีคนอย่างน้อย 4 กลุ่ม ได้รับประโยชน์ กลุ่มแรก คือตัวแทนวัด ที่ปล่อยให้มีการโอนที่ธรณีสงฆ์เปลี่ยนมือไปยังมูลนิธิ ฯ กลุ่มที่ 2 คือ มูลนิธิฯ ที่จดทะเบียนรับโอนที่ธรณีสงฆ์ กลุ่มที่ 3 บริษัทเอกชนที่รับซื้อ หรือ รับโอนที่ธรณีสงฆ์ต่อจากมูลนิธิฯ กลุ่มที่ 4 ประชาชนที่เข้าไปซื้อบ้าน หรือ ที่ดินจัดสรร โดยไม่รู้มาก่อนว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ และกลุ่มสุดท้ายคือข้าราชการ หรือ นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการรับรองการโอนย้ายเปลี่ยนมือที่ธรณีสงฆ์ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ไม่สามารถทำได้ และเป็นไปได้ที่จะมีการหยิบยกกรณีนี้ไปใช้เป็นเงื่อนไขในการอุทธรณ์คดีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปีในคดีอัลไพน์