ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มหากาพย์ "จีที 200" กับบาดแผลในใจของคนจังหวัดชายแดนใต้

ภูมิภาค
19 ก.ค. 59
20:36
1,434
Logo Thai PBS
มหากาพย์ "จีที 200" กับบาดแผลในใจของคนจังหวัดชายแดนใต้
"เครื่องนี้มันเชื่อไม่ได้นะ มันเป็นเหล็ก ไม่ใช่มนุษย์ แล้วเครื่องนี้ก็ซื้อมาด้วยภาษีของเรา" โต๊ะครูวัย 47 ปี เจ้าของโรงเรียนปอเนาะใน ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เล่าถึงสิ่งที่เขาบอกกับเจ้าหน้าที่ที่นำเครื่องจีที 200 มาตรวจค้นเมื่อ 17 มี.ค.2552

แม้ว่าการตรวจค้นครั้งนั้นจะผ่านมานานกว่า 7 ปีแล้ว แต่ทุกอย่างยังแจ่มชัดในความทรงจำของโต๊ะครูราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วัน ความหวาดผวาและความไม่พอใจจากการที่เจ้าหน้าที่นำเครื่องจีที 200 เข้าตรวจค้นปอเนาะของเขาปรากฏให้เห็นชัดเจนจากน้ำเสียงที่บอกเล่าและแววตา แม้แต่คำว่า "จีที 200" โต๊ะครูยังไม่อยากได้ยิน

จีที 200 ชี้ "ขวดน้ำบูดู" ที่โรงเรียนปอเนาะ

"คณะของหมอพรทิพย์ (แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น) เป็นผู้หญิงทั้ง 6 คน มาพร้อมกับทหารและ อส. มาตอนประมาณ 09.00 น. มาโดยไม่บอกล่วงหน้า ตอนนั้นโต๊ะครูกำลังเดินลงจากบ้านไปมัสยิด หมอถามว่ารู้จักหมอมั้ย หมอกับเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเพราะได้รับแจ้งว่าที่ปอเนาะมีสารระเบิด" โต๊ะครูย้อนเหตุการณ์ให้ผู้สื่อข่าว "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ฟังเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2559 โดยขอไม่เปิดเผยชื่อตัวเองและชื่อปอเนาะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

โต๊ะครูเล่าว่าเจ้าหน้าที่นำเครื่องจีที 200 มาด้วย 1 เครื่อง โดยบอกกับเขาว่าเครื่องนี้ "ชาวโลกยอมรับ" ก่อนจะใช้ตรวจค้นตามจุดต่างๆ ของปอเนาะอยู่นานประมาณ 3 ชั่วโมง

"พอเครื่องชี้ๆ ไป เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าปอเนาะนี้ไม่ปกติ โต๊ะครูก็บอกพวกเขาว่าอย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้ความรุนแรง เครื่องชี้ไปตรงไหนเดี๋ยวจะไปเอาวัตถุนั้นมาให้ดูว่าคืออะไร ปรากฏว่าเครื่องนี้ชี้ไปที่ขวดน้ำบูดู"

"หลังจากตรวจเสร็จเรียบร้อยไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หมอพรทิพย์ก็ขอโทษโต๊ะครู ขอโทษเด็กๆ แล้วก็เก็บดีเอ็นเอของครูและนักเรียนทุกคนไปตรวจที่กรุงเทพฯ อีก 2-3 วันต่อมาก็โทรศัพท์มาบอกว่าทุกคนที่นี่บริสุทธิ์" โต๊ะครูเล่าเหตุการณ์พร้อมกับเปิดสมุดเยี่ยมที่มีลายมือและลายเซ็นของคุณหญิงพรทิพย์ที่เขียนไว้ว่า "ได้มาตรวจเยี่ยม (ชื่อโต๊ะครู) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย" และยังเขียนชมด้วยว่าปอเนาะแห่งนี้ "สะอาดที่สุดตั้งแต่เคยเยี่ยมมา"

ปอเนาะแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ดิน 5 ไร่ เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2543 ขณะนี้มีนักเรียนประมาณ 100 คน

หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกองทัพบกสั่งซื้อเครื่องจีที 200 มาใช้ตรวจหาวัตถุและสารระเบิดในช่วงปี 2550-2553 เครื่องจีที 200 ถูกนำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างกว้างขวาง ปอเนาะใน ต.เมาะมาวี เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกตรวจสอบด้วยเครื่องจีที 200 เมื่อตรวจสอบแล้ว บางกรณีเจ้าหน้าที่จะนำตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนต่อ หากมีหลักฐานเพิ่มเติมบุคคลนั้นก็อาจจะถูกดำเนินคดี กรณีที่ไม่พบสิ่งใดผิดปกติก็จะไม่ดำเนินการใดๆ อย่างเช่นในกรณีของโต๊ะครูและปอเนาะแห่งนี้

ช่วงปี 2553 เริ่มมีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของจีที 200 นำโดยสมาชิกของเว็บไซต์พันทิป จนกระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 และมีการตรวจสอบเครื่องดังกล่าวที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2553 ผลการตรวจสอบพบว่าเครื่องจีที 200 ตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้งจาก 20 ครั้ง รัฐบาลจึงสั่งยกเลิกการซื้อเพิ่มเติมและให้หน่วยงานต่างๆ ทบทวนการใช้งาน

เดือนมกราคม 2556 คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติรับคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 เป็นคดีพิเศษเนื่องจากบริษัทเอกชนเสนอขายเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ไม่มีประสิทธิภาพให้หน่วยราชการของไทย 13 หน่วยงาน จำนวน 1,358 เครื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย กว่า 1,100 ล้านบาท ต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ศาลประเทศอังกฤษได้ตัดสินว่านายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 56 ปี เจ้าของบริษัท ATSC มีความผิดจริงข้อหาฉ้อฉลจากการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้งานไม่ได้จริงและไม่มีพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์ให้กับหลายประเทศ เช่น อิรัก จอร์เจีย อียิปต์และไทย ในราคาเครื่องละประมาณ 40,000 ดอลลาร์หรือกว่า 1.1 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 ศาลประเทศอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่า 395 ล้านบาทจากนายเจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมเพื่อนำเงินไปชดเชยให้ประเทศผู้เสียหาย

โต๊ะครูแห่งปอเนาะที่ ต.เมาะมาวี ผู้ที่เคยเห็นความไม่มีประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจีที 200 นี้ด้วยตาตัวเองบอกว่า เขาไม่ได้ข่าวเรื่องศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์ผู้จำหน่ายเครื่องจีที 200 เพราะไม่ค่อยได้ดูโทรทัศน์ และไม่ต้องการการเยียวยาใดๆ แม้ว่าเขาและนักเรียนจะเสียความรู้สึกมากจากการตรวจค้นครั้งนั้นมากก็ตาม

"ตอนนี้ไม่ต้องมาเยียวยาอะไรแล้ว ไม่ตายก็โชคดีแล้ว ไม่ต้องมาเยียวยาก็ได้" โต๊ะครูตอบ พร้อมกับเรียกร้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ปรับปรุงการเข้าตรวจค้นบ้านชาวบ้านและโรงเรียนปอเนาะ เพราะเห็นว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้รับนั้นมักเชื่อถือไม่ได้ บ่อยครั้งเป็นการแจ้งข้อมูลของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ไม่มีข้อมูล

"การจะตั้งใครมาเป็น ชรบ.ต้องสอบถามความเห็นจากชาวบ้านก่อน บางครั้ง ชรบ.ไม่ใช่เป็นคนอยู่ในกรอบศาสนา ไม่บวช ไม่ละหมาด แล้วตั้งมาเป็น ชรบ. แล้วคนแบบนี้ไปแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจค้น สร้างปัญหามากเป็นเพราะตั้งชรบ.โดยไม่ถามชาวบ้าน" โต๊ะครูกล่าว

ทนายมุสลิมแนะรัฐยอมรับผิดกรณีจีที 200 เพื่อ "ได้ใจชาวบ้าน"

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า จากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้ข้อมูลว่าพวกเขาถูกจับกุมภายหลังจากถูกเครื่องจีที 200 ชี้ว่ามีสารระเบิด

ทนายมองว่า แม้เจ้าหน้าที่จะใช้จีที 200 เพียงเพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัยและไม่ได้ใช้ผลจากการทำงานของเครื่องไปพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นศาล แต่จีที 200 ก็นำไปสู่การนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการซักถาม ซึ่งหลายคนเล่าว่าพวกเขาถูกบังคับให้รับสารภาพ บางครั้งด้วยการใช้ความรุนแรงขณะถูกคุมตัวไปซักถาม จนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา

"ผู้ต้องหาหลายคนบอกตรงกันว่าพวกเขาถูกจีที 200 ชี้ในที่เกิดเหตุหรือระหว่างการตรวจค้น แล้วก็ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกมาที่ค่ายทหารเพื่อซักถาม ซึ่งจะมีการใช้จีที 200 ตรวจอีกทีเพื่อยืนยันว่ามีวัตถุผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าเครื่องชี้มาที่เขาแล้วเขาปฏิเสธก็จะโดนหนัก เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่าจีที 200 ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง" นายอับดุลกอฮาร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเครื่องจีที 200 มักไม่ปรากฏในสำนวนการฟ้องหรือเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด เพราะเจ้าหน้าที่มักจะใช้ข้อมูลอื่นประกอบการดำเนินคดีซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า เช่น คำรับสารภาพของผู้ต้องหา แต่คำถามก็คือคำรับสารภาพนั้นเกิดจากการถูกบังคับหรือไม่

   อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี

"ช่วงนั้นเวลาเจ้าหน้าที่ไปที่เกิดเหตุแล้วเอาเครื่องจีที 200 ไปด้วย ชาวบ้านจะคุยกันว่าต้องหนีให้ไกลๆ เลยเพราะถ้าเครื่องชี้ไปที่ใคร คนนั้นโดนแน่ อาสาสมัครที่ศูนย์ทนายความมุสลิมก็เคยโดนมาแล้ว คือ ถูกเครื่องจีที 200 ชี้และถูกควบคุมตัวไปทั้งๆ ที่เขาไม่มีสิ่งผิดกฎหมายเลย เพียงแค่ไปที่ด่านแล้วเครื่องจีที 200 ที่เจ้าหน้าที่ถืออยู่ก็ชี้มาที่เขา" ทนายความมุสลิมระบุ "ลูกความของผมอีกคนหนึ่งเล่าว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น จีที 200 ชี้ไปที่ลูกมะพร้าว"

หลังจากที่ศาลอังกฤษตัดสินให้ยึดทรัพย์เพื่อนำมาชดใช้ผู้เสียหายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายอับดุลกอฮาร์เรียกร้องให้รัฐออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการนำเครื่องจีที 200 มาใช้โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความอ่อนไหวเรื่องความเชื่อใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้านมากอยู่แล้ว

และเอาเข้าจริงแล้ว ไม่เพียงประชาชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องจีที 200 แต่เครื่องนี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน เช่นเมื่อเครื่องชี้ว่าไม่มีระเบิดแต่จริงๆ กลับมี นายอับดุลกอฮาร์กล่าว 

"ผมไม่หวังถึงขั้นว่าจะต้องไปรื้อคดี เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนมาหลายชุด แต่อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมข้อมูลของผู้ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องจีที 200 ชี้ตัว"

"ถ้ารัฐแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้และสร้างบรรยากาศให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องจีที 200 ออกมาแสดงตัว ผมคิดว่ารัฐจะได้ใจจากชาวบ้านมากขึ้น ลองคิดดูว่าถ้าผมเป็นคนที่เคยโดนจีที 200 ชี้ แล้วดูข่าวทีวีว่าศาลตัดสินแล้วว่าเครื่องนี้หลอกลวง ผมจะรู้สึกยังไง"

"ที่ผ่านมารัฐมักบอกว่าอยากจะชนะใจคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พบกับความไม่เป็นธรรม ซึ่งผมเห็นว่าการยอมรับผิดในกรณีจีที 200 นี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่แค่เพียงเหยื่อของจีที 200 แต่จะเป็นผลดีกับสถานการณ์ภาคใต้โดยรวมด้วย" เขากล่าว

โฆษก ทบ.ยืนยัน จีที 200 ไม่มีผลต่อการเอาผิดผู้ต้องหา

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" วันนี้ (19 ก.ค.2559) โดยให้ข้อมูลสอดคล้องกับประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่า การใช้เครื่องจีที 200 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเข้าถึงตัวผู้ต้องสงสัย แต่ไม่สามารถเอาไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี และกองทัพได้เลิกใช้เครื่องมือนี้มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว

"เครื่องมือนี้เป็นเพียงการชี้ตัว หลังจากนั้นก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ว่าเครื่องจีที 200 ไปชี้ที่ใครแล้วคนนั้นจะเป็นผู้ต้องหาในทันที จีที 200 กล่าวหาใครไม่ได้ จีที 200 ไม่มีผลต่อการเอาผิดทางคดี เหมือนกับเวลาที่มีชาวบ้านมาบอกเราว่าคนนี้มีพฤติกรรมน่าสงสัย เราก็ไปหาเพื่อสอบถาม เรียกมาพูดคุย จีที 200 ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นชาวบ้านที่แจ้งข้อมูลเราเท่านั้น แต่ทั้งคำบอกเล่าจากชาวบ้านหรือการชี้ของจีที 200 ไม่สามารถเอามาใช้เป็นข้อมูลผูกมัดเพื่อเอาผิดใครได้ ส่วนใหญ่หลักฐานที่น่าเชื่อถือคือหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดีเอ็นเอที่ผูกมัดตัวผู้กระทำผิด องค์ประกอบของหลักฐานที่จะเอาผิดใครสักคนมันต้องมีความหนักแน่นเพียงพอ" พ.อ.วินธัยกล่าว

                         พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก

โฆษกกองทัพบกยังยืนยันด้วยว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวมาซักถาม เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น

"เคยมีคนที่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปซักถามบอกว่าถูกซ้อมถูกบังคับ ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องไปบีบบังคับใครในกระบวนการซักถาม เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะกลับคำให้การได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นซ้อมไปก็ไม่มีประโยชน์ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะไปซ้อมหรือบีบบังคับผู้ต้องหา" พ.อ.วินธัยระบุ

สำหรับการเรียกค่าเสียหายจากผู้จำหน่ายจีที 200 นั้น พ.อ.วินธัยเปิดเผยว่ากองทัพกำลังพิจารณาอยู่ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงท่าทีชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า จะไม่มีการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 ในไทยซ้ำอีก เพราะทุกประเทศก็จัดซื้อเครื่องมือนี้มาใช้ แต่เมื่อพบว่าใช้ไม่ได้ก็ยุติการใช้ ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต หากทำได้ก็จะดำเนินการ

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง