เรือกำปั่นจักรอรรคราชบรรยง ต่อที่หน้าวัดพิชัยญาติ จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เลย หากไม่ขยายขนาดคลองสาน เป็นหลักฐานที่เหลือถึงการต่อเรือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ "ช่วง บุนนาค" สมัยรัชกาลที่ 4 การต่อเรืออย่างตะวันตก มีใบพัดจักรกลด้านข้าง บุกเบิกโดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นช่างต่อเรือตะวันตกคนแรกตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กในรัชกาลที่ 3 ความรู้ทางภาษาอังกฤษบวกกับได้คบค้าชาวต่างชาติ เปิดโลกให้นำวิทยาการใหม่ๆ มาปรับใช้ ยังผลให้การค้าขยายตัวอย่างมากจนเป็นที่มาของเงินถุงแดงหรือกำไรค้าสำเภา มีการนำความรู้เชิงช่างตะวันตกมาใช้อีกมากระหว่างการพัฒนาประเทศยามนั้น เช่น การตัดถนน ขุดคลอง
"สิ่งที่เรานำสินค้าออกไปค้าขายยังจีน อินโดนีเซีย ชวา ทำให้เรามีเงินถุงแดงในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะฉะนั้นบทบาทท่านตรงนั้น ค่อนข้างเยอะมาก เพราะว่าต้องดูแลการท่า การท่าก็ดูแลการส่งสินค้าไปต่างประเทศ คือ กระทรวงต่างประเทศปัจจุบัน" พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ย้อนถึงช่วง บุนนาค ในฐานะบุคคลที่มีบทบาทต่อระบบการค้าของสยามยุคนั้น
ในรั้วเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี มีอาคารทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค เป็นสัญลักษณ์ของการมาพำนักยังเมืองราชบุรีในช่วงชีวิตบั้นปลายของชีวิต สันนิษฐานว่าอาคารที่พักเดิมน่าจะเป็นเรือนไม้อยู่ใกล้กับริมแม่น้ำแม่กลอง แต่ปัจจุบันไม่หลงเหลือหลักฐาน คงเหลือแต่ร่องรอยชีวิตที่มีความผูกพันกับเมืองราชบุรี
เมื่อมาราชการที่เมืองราชบุรี สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ พำนักยังจวนริมน้ำแม่กลอง บริเวณเดียวกับอาคารทำเนียบสถาปัตยกรรมตะวันตกในห้วงเวลานั้น ท่านเป็นแม่กองขุดคลองดำเนินสะดวก โดยมีคนจีนเป็นกำลังหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างเมืองทางตะวันตก เปิดใช้เมื่อ พ.ศ.2411 ตรงกับปีที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5
สมปอง ดวงไสว นักเขียนสารคดี-บทความด้านศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ใน พ.ศ.2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรลุนิติภาวะแล้วก็เป็นกษัตริย์เต็มตัว มีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ที่ว่างจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในครั้งนั้นแล้ว แม้จะเป็นที่ปรึกษาอยู่ก็ตาม จึงได้มาพำนักที่ราชบุรี ด้วยเหตุผลที่ว่าอากาศดี ไกลจากปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อในพระนครมีเหตุ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ต้องเข้าไป
7 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ก่อนมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองราชบุรี มีหลักฐานการทำนุบำรุงวัดริมน้ำแม่กลอง และยังสร้างวัดประจำตระกูลบุนนาค ชื่อวัดศรีสุริยวงศ์ ผสมผสานงานช่างตะวันตกตามความสนใจ คุณูปการที่มีต่อแผ่นดินยังไม่เป็นที่รับรู้กว้างขวาง จึงเผยแพร่ผ่านงานตามรอย 150 ปี ศรีสุริยวงศ์ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปี 2560 เตรียมเสนอเป็นบุคคลสำคัญของโลก
"ในสยามยุคนั้นส่วนมากมองว่าฝรั่งเป็นชาติอันตราย เพราะเขามีปืนไฟไม่ควรคบหาเพราะถือว่าเป็นอันตราย แต่ท่านมองอีกด้านว่าในเมื่อมีสิ่งที่ร้ายก็ต้องมีส่วนดีด้วย เพราะว่าวิทยาการต่างๆที่มาพร้อมๆ กับการติดต่อของชาติตะวันตกเนี่ย ก็สร้างสรรค์ความเจริญและอาชีพ ทำให้คนมีอาชีพมากขึ้น มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น" จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านศิลปวัฒนธรรม
"ถือว่าท่านเป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องการปกครองด้วย ทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการ ท่านก็ไม่ได้คิดการใหญ่ ท่านก็ไปซ่อนนัยยะไว้แล้วก็ยังสร้างบุคคลสืบทอดความรู้ เป็นความรู้ไม่ใช่อำนาจ เพราะว่าความรู้ทางการท่าการช่าง ลูกหลานในสมัยต่อๆ มา ก็มารับราชการ" พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ให้ความเห็นถึงสิ่งที่ตกทอดอันเป็นคุณูปการของประเทศ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีชีวิตตลอด 5 แผ่นดินรัตนโกสินทร์ สนองราชการใกล้ชิด ผลงานความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ยกย่องกันว่าเป็นแบบอย่างผู้ทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง