ารรักษาความเรียบร้อย ตำรวจได้เตรียมกำลังทั้งหมด กว่า 600 นายดูแล ทั้งการตรวจค้นอาวุธและรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร
นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เปิดเผยว่า การรวมตัววันนี้ทุกคน ต้องการขอความเป็นธรรม เพื่อทวงคืนพื้นที่ดิน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ห่วงมือที่สามจะเข้ามาสร้างสถานการณ์ แต่ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแล้วเนื่องจากมีตำรวจมาดูแลอย่างเต็มที่
ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย โดยได้นำผลการพิจารณาของ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาททางแพ่งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ
การวินิจฉัยชี้ขาดของ กยพ. ใช้เวลาการพิจารณาถึง 2 ปี โดยมีการสอบทั้งพยานหลักฐาน และพยานบุคคล ของทั้ง 2 ฝ่าย และได้ตัดสินให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับชำระค่าเสียหายปีละกว่า 1,140 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนกว่าจะส่งมอบคืนพื้นที่แล้วเสร็จ ทั้งนี้คณะรัฐในตรีมีมติรับทราบผลการตัดสินชี้ขาดของ กยพ. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 แล้ว
ขณะเดียวกันตัวแทนฝ่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ยื่นถวายฎีกาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 และมีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการ ว่าให้ผลเป็นไปตามคำวินิจฉัยของ กยพ.
สำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มีการชี้แจงจากตัวแทนศิษย์เก่าและปัจจุบัน ว่ามีจุดประสงค์เพื่อคัดค้านขอให้ระงับการคืนพื้นที่ หลังรวมตัวกันที่อุเทนถวาย และจะมีการเดิน ขบวนจากหน้าอุเทนถวาย มุ่งหน้าไปยัง สำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ จากนั้นกลับรถไปด้านหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำกิจกรรมหน้า และแสดงละครเสียดสีกลุ่มนายทุน เมื่อเสร็จแล้วจะแปรขบวนไปทำกิจกรรมที่หน้าซอยจุฬา 12 และกลับมาที่อุเทนถวายคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเวลา 17.00 น.