จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงกรณีขอคืนพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก หรือ มทร.วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องชัดเจน โดยเป็นการขอคืนพื้นที่เช่าจากอุเทนถวาย ในฐานะเป็นผู้เช่าใช้พื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ระหว่าง พ.ศ. 2478 - 2546 รวม 68 ปี โดยมีหลักฐานการชำระเงินค่าเช่าที่ดิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นเงิน 514.66 บาท และจากนั้นในปี พ.ศ. 2518 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนาของมหาวิทยาลัย
โดยกระบวนการขอคืนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาจาก คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาททางแพ่งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวประกอบไปด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่ายการยุติในการดำเนินคดีแพ่งฯ โดยได้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเป็นเวลา 2 ปี โดยมีตัวแทนฝ่ายอุเทนถวายเข้าร่วมด้วย อาทิ ตัวแทนอาจารย์ ตัวแทนนักศึกษา ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรม นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ กรรมการสมาคมศิษย์เก่าฯ ที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมศิษย์เก่าฯ
โดยการสรุปผลการพิจารณาตัดสินชี้ขาดของ กยพ. ให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมชำระค่าเสียหายให้กับจุฬาฯ ปีละ 1,140,900 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสร็จสิ้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการตัดสินชี้ขาดของ กยพ. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553
หลังจากนั้น ตัวแทนฝ่ายอุเทนถวาย มีการยื่นถวายฎีกาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 และได้มีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการ แจ้งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของ กยพ. โดยมีหลักฐานปรากฎเป็นเอกสารจากสำนักราชเลขาธิการถึง นายสมศักดิ์ รัตนเชาว์ ผู้ยื่นถวายฎีกา หนังสือเลขที่ รล 0007.4/1935 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งถือเป็นการยุติ
สำหรับกรณีที่มีผู้คัดค้านว่า จุฬาฯอาจนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์นั้น จุฬาฯยืนยันว่า ได้ดำเนินการภายในพื้นที่ 30% ตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัย และจะไม่มีการขยายพื้นที่แน่นอน พร้อมระบุว่ารายได้ที่ได้จากการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่เขตพาณิชย์ จะนำไปสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษา ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรม งานบริการเพื่อสังคม ทุนการศึกษาประมาณ 12,000 ทุน (450 ล้านบาท) พัฒนาการจัดการศึกษา และพัฒนานิสิต เช่น สื่อการสอน เครื่องมือการเรียนการสอนและการวิจัย ด้าน ICT ด้านดนตรี และด้านกีฬา พัฒนาอาจารย์ และบุคลากร เช่น ส่งเสริมศักยภาพการเรียนการสอน และงานวิจัย ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และบำรุงสถานที่สำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน
ส่วนกรณีกรมพลศึกษาและโรงเรียนปทุมวัน(โรงเรียนประถมศึกษา ในสังกัด กทม.) ได้ผ่านการเจรจาร่วมกันจนเป็นที่เข้าใจและได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ จุฬาฯ ได้ยืนยันว่า การดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการศึกษาและสังคมไทย โดยดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพราะมีการตรวจสอบทั้งภายใน โดยสำนักตรวจสอบ และภายนอก โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ข้อมูลจาก
งานสื่อสารนานาชาติ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(CICC)