ตัวแทน บ.
แม้ยังต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดจากกรมควบคุมมลพิษ ถึงช่วงกลางเดือนหน้า แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากผู้ประกอบการแท่นขุดเจาะน้ำมันรายหนึ่ง และยอมเปิดเผยให้เห็นระบบการจัดการของเสีย รวมทั้งการผลิตบนน้ำมันบนแท่นผลิต และจากเรือบรรทุกน้ำมัน ในอ่าวไทย จังหวัดสงขลา
ห่างฝั่งจาก ต.บ่อแดง อ.สทิงพระ จ.สงขลา ไปทางตะวันออก 17 กิโลเมตร นี่ถือว่าอาจเป็นแท่นผลิตน้ำมันสงขลา ที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ใกล้เคียงกับอีก 4 แท่นผลิตน้ำมัน พื้นที่สัมปทานของบริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งแต่ปี 2551
ตัวแทนบริษัทเปิดเผยกระบวนการผลิตเมื่อถูกตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่แท่นผลิตน้ำมันอาจมีวัสดุหลงเหลือปะปนกับน้ำทะเล จนมีคราบไปติดชายฝั่ง
นายทนง กุลบุณยรักษ์ รอง ผจก.ฝ่ายปฏิบัติการ ตัวแทนบริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า ระบบผลิตน้ำมัน ต้องเป็นไปตามการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งห้ามทิ้งเศษวัสดุใด ๆ ลงในทะเล และถูกกำกับโดยเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมควบคุมมลพิษ
หากเป็นไปตามขั้นตอนปกติน้ำมันดิบที่ปั๊มขึ้นมาอยู่ในระบบปิด แต่อาจมีสิ่งเจือปนอื่นรวมขึ้นมาด้วย เช่นน้ำ และสิ่งอื่นๆ ขั้นตอนนี้น้ำจะถูกแยกออกจากน้ำมัน จะถูกนำกลับไปอัดลงหลุมที่เลิกใช้งาน ระดับความลึก 7,000-8,000 ฟุต และมีก๊าชปะปนมาเล็กน้อย ส่วนหนึ่งใช้ปั่นไฟ และอีกส่วนหนึ่ง จะถูกเผาทิ้งเพื่อความปลอดภัย
น้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่อง จะถูกใช้หมุนเวียนในระบบปิดบนแท่น ส่วนเศษวัสดุและขยะอันตรายจากการผลิต ตัวแทนบริษัท เปิดเผยว่า ต้องนำขึ้นฝั่ง แล้วเผาทำลายด้วยความร้อนสูง ที่โรงงานปูนซีเมนต์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เช่นเดียวกับเรือรับน้ำมันจากแท่นผลิต ก็ยืนยัน ว่า ใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักกฎสากลของเรือเดินทะเลทั่วโลก
ก่อนหน้านี้มีข้อสันนิษฐาน อีกด้านจากนักวิชาการ กรมควบคุมมลพิษ ถึงที่มาของก้อนของเสีย พบตามแนวชายฝั่ง ว่า คราบน้ำมัน อาจเกิดขึ้นได้จากทั้งท่าเทียบเรือ การขนถ่ายสินค้า การประมง
ขณะที่นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบกากของเสียสีดำในห้องแล็ป ระบุมีสารประกอบประเภทน้ำมัน อาจเป็นไปได้ที่จะมาจากสารประกอบน้ำมันจากหัวขุดเจาะสำรวจน้ำมันกลางทะเล เรื่องนี้ไม่ต่างจากความเห็นของกลุ่มนักอนุรักษ์
ชาวบ้านใกล้ชายฝั่ง จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ทุกปี แต่มากเมื่อ 2 ปีก่อน และชาวบ้าน ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเปิดเผยการตรวจสอบอย่างละเอียด ว่า กากของเสียคล้ายน้ำมัน ที่พบคืออะไร พร้อมทั้งตรวจหาแหล่งที่มา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
แท็กที่เกี่ยวข้อง: