แม้จะมีการประเมินสถานการณ์การลักลอบค้า สารเคมี-สารตั้งต้น ที่ถูกนำไปใช้ผลิตยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ ประเภท เมทแอมเฟตามีน ของสำนักงานสหประชาชาติระบุว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ในทุกๆ ปี แต่ข้อมูลที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ปริมาณการจับยึดเมทเอมเฟตามีน
เมทแอมเฟตามีน ที่แพร่ระบาดหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก ในรอบปี 2565 คาดการณ์ว่ามีการจับยึดเมทเอมเฟตามีน อาจมีปริมาณถึง 170 ตัน และสัดส่วนของกลางในเอเชียตะวันออกลดลง จาก 26 ตันในปี 2563 ลดเหลือ 19 ตันในปี 2564
ข้อมูลจากสำนักงานสหประชาชาติระบุว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม(UNODC) ระบุว่า ปี 2565 มีการยึดเมทเอมเฟตามีนใน 2 ภูมิภาคนี้ถึง 151 ตัน และเคตามีนที่ยึดได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จำนวน 27.4 ตัน เพิ่มขึ้น 167 % เมื่อเทียบกับปี 2564
ขณะที่ข้อสรุปจากการประชุมของหน่วยงานยาเสพติดในอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ UNODC เมื่อปลาย ธ.ค. 2565 ประเมินว่าเมทแอมเฟตามีน ยังเป็นชนิดที่มีความสำคัญของทั้ง 2 ภูมิภาค โดยภูมิภาคเอเซียตะวันออก จากการจับกุมเมทแอมเฟตามีนของกลางใน ประเทศจีน และไต้หวัน พบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การจับกุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง กลับเพิ่มสูงขึ้น
เส้นทางยาเสพติด
สารสังเคราะห์ยาเสพติดประชิดทุกเส้นทาง
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านความมั่นคงระบุว่า แม้ตัวเลขการจับยึดเมทเอมเฟตามีนจะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ปัญหายังมีอยู่ สถิติการจับกุมในเมียนมา เดือน ม.ค.-พ.ย.2565 พบเมทเอมเฟตามีน (ไอซ์) เพิ่มขึ้นจากปี 2564
นอกจากนี้ยังพบยาเสพติดสังเคราะห์ชนิดอื่น เช่น เคตามีน และ เอ็กซ์ตาซี (ยาอี) ซึ่งชัดเจนว่ายาเสพติดดังกล่าว มีการลักลอบผลิตในเมียนมา แม้ทางการเมียนมาจะเปิดปฎิบัติการ "ฉานโมยะ" การปราบแหล่งอัดเม็ดยาบ้าของ "ปิตุชิด เยปูซาน" เขตว้าใต้ และการจับกุมยาบ้าจำนวน 1,300,000 เม็ด ที่เมืองเมาะลำไย ในเมียนมา
การจับกุมไอซ์ 154 กิโลกรัม ในรัฐมณีปุระ อินเดีย เมื่อเดือน ธ.ค.2565 และการจับกุมยาบ้าที่บังคลาเทศ ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ถึง 35 ล้านเม็ด และเพิ่มเป็น 53 ล้านเม็ดในปีเดียวกัน แต่ของกลางและปริมาณการจับกุมสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดยาเสพติดชนิดสังเคราห์ยังเป็นที่ต้องการของตลาดยาเสพติด
ขณะที่สถิติการจับกุมของลาว หน่วยยาเสพติดของลาวระบุข้อมูล ม.ค.-มิ.ย.2565 ว่า ของกลาง "ยาบ้า" และ "ไอซ์" สูงใกล้เคียงกับปีก่อน เช่นเดียวกับการลักลอบนำเข้าสารสังเคราะห์ สารตั้งต้นจาก อินเดียและจีน เข้าไปสามเหลี่ยมทองคำในเมียนมา และกรุงพนมเปญ รวมทั้ง จ.กำปงสปือ จ.กำปงชนัง ในกัมพูชา ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2565 เจ้าหน้าที่ยึดเคตามีน 849.5 กิโลกรัม ซึ่งบรรจุไว้ในถุงชาจีน ได้ที่ จ.พระสีหนุ และจับกุมชาวไต้หวัน 2 คนได้ที่พนมเปญและเสียมเรียบ คาดอาจมาจากแหล่งผลิตในกัมพูชา
ชายแดนไทย-เพื่อนบ้าน ทุกด้านยังน่าห่วง
หน่วยงานด้านความมั่นคงระบุ พบข้อมูลองค์กรอาชญากรรมชาวจีน เข้ามาปักหลักผลิตเคตามีนระดับอุตสาหกรรมในกัมพูชา หลังจีนเปิดปฎิบัติการยึดสารเคมีในมณฑลยูนนานได้ถึง 213,000 กิโลกรัม ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.2566 แต่ก่อนหน้านี้สารเคมีดังกล่าวที่ผลิตไว้ ได้ถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ แล้ว รวมทั้งไทย
แม้ยาเสพติดเคตามีน และ ไอซ์ จะลดลงจากผลจับกุมภายใต้แผนแม่น้ำโขงปลอดภัย และโรงงานผลิตเคตามีนในกัมพูชาของกลุ่มทุนจีนในกัมพูชาจะถูกทำลาย แต่พบข้อมูลใหม่และความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักค้าชาวไทย เตรียมจัดหาไอซ์ และเฮโรอีน เพื่อส่งออกจากน่านน้ำไทย-กัมพูชา ด้วย
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ระบุว่า ชายแดนทุกด้านยังเสี่ยง ทั้งด้านเมืองสาดและเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งพักยา มีเพียงมาตรการกดดันแหล่งผลิต
เช่นเดียวกับชายแดนด้านตะวันตก แม้จะมีกองกำลังติดอาวุธสู้รบกัน แต่พบขบวนการค้ายาพยายามลักลอบนำไอซ์ เข้ามาในไทย ส่วนชายแดนภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออก เฉียงเหนือยังเป็นพื้นที่หลักในการนำเข้ายาบ้า
แม้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยปฎิบัติการลุ่มน้ำโขงจะเปิดปฎิบัติการสะกัดกั้นยาเสพติด แต่กลุ่มนักค้ายาเสพติดได้เปลี่ยนเส้นทางลักลอบนำเข้าสารดังกล่าวจากเวียดนามและลาว มาเข้าทางภาคอีสานของไทย อีกส่วนหนึ่งถูกลำเลียงลงทะเลอันดามัน รอยต่อระหว่างไทย เมียนมาและมาเลเซีย จึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์ยาเสพติดในไทยดีขึ้น
พื้นที่จับกุมยาเสพติดคดีสำคัญ
อ่านข่าวเพิ่ม :