วันนี้ (9 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่สงสัยว่าถูกนางสรารัตน์ หรือ แอม วางยาไซยาไนด์ เข้าขอความช่วยเหลือกับทางสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ช่วยเหลือเรื่องทนายความในการต่อสู้คดี
นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สภาทนายความฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีนี้ทั้งหมด ซึ่งได้ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือทั้งหมด 14 ครอบครัว เป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยจะจัดทนายความอาสาว่าความสู้คดีให้ ไม่เสียค่าทนายความ
ทั้งนี้จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหารือแนวทางการต่อสู้คดี ทั้งการหารือร่วมกับตำรวจ รวมถึงแพทย์ผู้มีความรู้เรื่องสารพิษ เป็นต้น รวมถึงอาจพิจารณาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ส่วนการเรียกร้องเยียวยา สามารถเรียกได้ในทางอาญา แต่หากทางครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องการจะฟ้องแพ่งเพิ่มเติมก็จะจัดทนายความว่าคดีให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน
ขณะที่นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการ เปิดเผยถึงความกังวลที่สังคมตั้งข้อสังเกตเรื่องผู้ต้องหาตั้งครรภ์ ว่า กรณีนี้ไม่เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการสืบพยาน เว้นแต่ป่วยเดินทางไม่ได้ตามความเห็นของแพทย์
ส่วนกรณีหากคดีไปถึงที่สุดและลงโทษประหารชีวิต ในขณะที่ผู้ต้องหาคลอดบุตรในระหว่างกระบวนการนี้ กฎหมายกำหนดให้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
นายวีรศักดิ์ ระบุอีกว่า กรณีนี้คาดว่ากว่าที่คดีความจะเดินทางไปถึงวันที่ศาลมีคำตัดสินเป็นที่สุด ผู้ต้องหาน่าจะคลอดบุตรแล้ว ดังนั้นคำตัดสินในคดีนี้จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงไปจากโทษประหารชีวิต เป็นโทษสูงสุดตามข้อกล่าวหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ด้านนายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ระบุถึงภาพรวมของผู้เสียชีวิตในคดีนี้ว่า มีผู้เสียชีวิตหลายคนที่พนักงานสอบสวนไม่มีการส่งศพชันสูตรพลิกศพ โดยระบุเหตุผลว่าญาติไม่ติดใจการตาย แม้จะเป็นที่รับฟังได้ แต่อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ระบุว่า “เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย”
สำหรับการตายโดยผิดธรรมชาติมี 5 ลักษณะ คือ การฆ่าตัวตาย, การถูกสัตว์ทำร้าย, การตายโดยอุบัติเหตุ, การตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ และการถูกผู้อื่นทำให้ตาย
และในมาตรา 150 ระบุว่า “กรณีการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ให้เจ้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพนั้น สาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัย หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาล เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ” โดยผู้มีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ พนักงานสอบสวน, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
หากเจ้าพนักงานยึดถือปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่กำหนด ก็จะสามารถยับยั้งเหตุ ไปจนถึงเกิดประโยชน์กับคดีความ เพราะการชันสูตรพลิกศพคือหลักฐานทางนิติวิทยาศาตร์ที่สำคัญมาก
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นกิริยามารยาทของทนายความฝ่ายผู้ต้องหาในคดี ที่ได้แสดงอาการยิ้มย่องหรือหัวเราะขณะพูดถึงคดีความ โดยมีครอบครัวของผู้เสียชีวิตรับฟังอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่
นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า รับทราบถึงกระแสสังคมในกรณีดังกล่าวแล้ว แต่การสอบมรรยาททนายความมีหลักการพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ ตามเหตุที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ แต่ปัจจุบันสภาทนายความมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อปฎิบัติหน้าที่เชิงรุกในการสังเกตการณ์ และเฝ้าระวังพฤติกรรมอันส่อจะผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจะนำกรณีของทนายความดังกล่าวเข้าหารือพิจารณา
ส่วนนายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานทางคดีให้กับครอบครัวผู้เสียหาย ยืนยันว่า การเข้ามาขอความช่วยเหลือกับสภาทนายความฯ ไม่ได้หมายความว่าไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ แต่เพื่อให้การต่อสู้คดีเป็นไปโดยสมบูรณ์ และเพื่อให้ครอบครัวผู้เสียหายมั่นใจว่าจะชนะในการต่อสู้คดีเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง