พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเชื่อมโยงกับศาสนาอย่างแยกไม่ออก และยกสถานะกษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งศตวรรษที่ 21 เนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ได้ผสมผสานค่านิยมโบราณกับค่านิยมสมัยใหม่ไว้ด้วยกัน
แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงขึ้นครองราชย์โดยอัตโนมัติ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาสวรรคต แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณียังคงมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นรัชสมัยใหม่อย่างแท้จริง
อ่านข่าว ราชวงศ์อังกฤษ : ย้อนรอยกษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษ
พิธีกรรมสำคัญที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษ คือ การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายกางเขนบนพระวรกาย
เนื่องจากกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะถูกยกสถานะให้เป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษโดยสมบูรณ์ ผ่านพิธีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
แต่การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ ถูกปรับให้เหมาะสมกับค่านิยมยุคใหม่ และไม่ใช้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีต
เนื่องจากน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลก่อนมีส่วนผสมจากสัตว์บางชนิด ที่ขัดกับค่านิยมพิทักษ์สัตว์และการบริโภคมังสวิรัติของคนรุ่นใหม่
พระราชพิธีในครั้งนี้ลดจำนวนแขกเหลือเพียง 2,000 คน น้อยกว่าแขกในพระราชพิธีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถึง 4 เท่า
อ่านข่าว : ใครบ้าง? บุคคลระดับโลก ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3"
ศ.โรเบิร์ต ฮาเซลล์ นักวิชาการด้านการปกครอง จาก University College London ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันเสาร์นี้ ว่า
ผลสำรวจประชาชนชี้ว่าแรงสนับสนุนราชวงศ์อังกฤษลดลงอย่างมาก สำนักพระราชวังก็มักจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของความเห็นของประชาชน จึงไม่ต้องการให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีค่าใช้จ่ายสูงหรือหรูหรามากเกินไป
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงปรารถนาให้ราชวงศ์มีความคล่องตัว ผมคิดว่าพราะราชพิธีในครั้งนี้จะลดขนาดลงเมื่อเทียบพระราชพิธีเมื่อปี 1953
แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ จะพยายามปรับให้ทันสมัย และคำนึงถึงปากท้องของประชาชนท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น แต่การตัดลดค่าใช้จ่ายเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เพื่อปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก
ความพยายามในการปรับขั้นตอนเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงผิวเผินและไม่สามารถกลบความไม่พอใจของชาวอังกฤษบางส่วนลงได้
เนื่องจากค่าใช้จ่ายอาจทะลุ 100 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4,300 ล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้เปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการก็ตาม
ผลการสำรวจของ YouGov เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า 48% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 3,000 คน จะไม่ติดตามชมพระราชพิธี
ศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในการจูงใจให้ประชาชนคล้อยตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษกยุคใหม่
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษเชื่อมโยงกับศาสนาโดยตรง เนื่องจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะทำหน้าที่เป็นประธาน
ขณะที่หัวใจสำคัญของพิธีกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือกษัตริย์จะทรงปฏิญาณว่าจะทรงค้ำจุนศาสนจักรอังกฤษอย่างเต็มที่
สตีเวน อีแวนส์ ประธานสมาคม National Secular Society ตั้งข้อสังเกตว่า มุมมองทางศาสนาและความเชื่อของชาวอังกฤษเปลี่ยนแปลงไปจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 ทำให้พิธีกรรมนิกายแองกลิกันเริ่มแปลกแยกจากสภาพสังคมสมัยใหม่มากขึ้น
หากพระราชพิธีในครั้งนี้ลดความเชื่อมโยงกับศาสนจักรอังกฤษลง ก็อาจดึงความสนใจจากกลุ่มคนที่มีความเชื่อหลากหลายได้มากขึ้น
อ่านข่าว : ราชวงศ์อังกฤษ : ย้อนรอยราชวงศ์วินด์เซอร์
ศ.โรเบิร์ต ฮาเซลล์ คาดว่าพระราชพิธีครั้งนี้ยังเกี่ยวพันกับความเชื่อ เพราะสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีความเชื่อทางศาสนาแรงกล้า
ขณะเดียวกันพระองค์อาจมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการอุปถัมภ์ศาสนาและความเชื่ออื่น ๆ เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บัลลังก์ที่ประทับ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3"
เปิดกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3"
หินแห่งโชคชะตา หินศักดิ์สิทธิ์คู่พิธีพระบรมราชาภิเษก
"มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์" สถานที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ราชวงศ์อังกฤษ