ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4,440 โรงเรียน ใช้หลักสูตรใหม่ปฐมวัย–ประถมต้น ภาคเรียน 1 ปี 68

สังคม
29 เม.ย. 68
12:21
335
Logo Thai PBS
4,440 โรงเรียน ใช้หลักสูตรใหม่ปฐมวัย–ประถมต้น ภาคเรียน 1 ปี 68
อ่านให้ฟัง
05:26อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สพฐ.เดินหน้าใช้หลักสูตรใหม่ปฐมวัย–ประถมต้น 4,440 โรงเรียนทั่วประเทศ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 เน้นอ่านออกเขียนได้อย่างเข้าใจ คิดเลขเป็น เสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

วันนี้ (29 เม.ย.2568) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2567 ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักสูตรใหม่สำหรับใช้เป็นกรอบในการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดแนวคิดการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ และสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

สพฐ.จึงได้ขับเคลื่อนการนำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2568 สำหรับเด็กอายุ 3–6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–3) พ.ศ.2568 ไปใช้จริงทั่วประเทศในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนพิจารณาความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วม เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ทักษะที่จำเป็นของผู้เรียน และนโยบายเรียนดี มีความสุข ของกระทรวงศึกษาธิการ

การพัฒนาหลักสูตรใหม่ดำเนินการตามหลักวิชาการอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การวิจัยสถานภาพการสอนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา การวิเคราะห์หลักสูตรและแนวโน้มการศึกษาต่างประเทศ การพัฒนาหลักสูตรต้นแบบ และการสังเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดีจากโรงเรียนต่าง ๆ จนได้หลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย และมีการรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดมีโรงเรียนจากทุกสังกัดสมัครใจเข้าร่วมแล้ว 4,440 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มวิจัยและประเมินคุณภาพการใช้หลักสูตร 237 โรงเรียน และกลุ่มเครือข่ายการใช้หลักสูตร 4,203 โรงเรียน ซึ่งในระดับปฐมวัยจะมุ่งเน้นพัฒนาการสมวัย

ขณะที่ระดับประถมศึกษาตอนต้นเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างเข้าใจ คิดเลขเป็น เสริมสร้างทักษะพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบสนองการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การศึกษาขั้นสูง

ทางด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในระดับประถมต้น (ป.1–ป.3) จะเน้นการประเมินสมรรถนะด้านการอ่าน เขียน และคำนวณ โดยแบ่งผลการเรียนรู้เป็น 4 ระดับ ได้แก่ เริ่มต้น พัฒนา ชำนาญ และเชี่ยวชาญ แตกต่างจากการประเมินผลแบบเป็นเกรดรายวิชา ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดทำแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรต่างระบบ เพื่อให้การย้ายเข้า–ออกของนักเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน สพฐ.โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้เตรียมมาตรการสนับสนุนการใช้หลักสูตรอย่างครบวงจร ทั้งการจัดทำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์, การตั้งคลินิกวิชาการ เป็นที่ปรึกษา การจัดประชุมชี้แจงแนวทางกับผู้บริหารและครู และการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่าน OBEC Channel รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยลดภาระครูในการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ และการวัดผล ผ่านแหล่งเรียนรู้เฉพาะด้าน

สพฐ.คาดหวังว่าการนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ให้เด็กและเยาวชนเกิดสมรรถนะอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมสำหรับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

ทางด้านโรงเรียนที่สมัครใจเข้าร่วม สพฐ. พร้อมเป็นเพื่อนดูแลช่วยคุณครูและโรงเรียน ให้สามารถขับเคลื่อนหลักสูตรได้อย่างมั่นใจ โดยเตรียมพร้อมทั้งคลินิกวิชาการ การอบรมพัฒนาครู การอบรมศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรใหม่มีเฉพาะระดับประถมต้น หากการนำร่องใช้ประสบผลสำเร็จด้วยดี จะพัฒนาหลักสูตรในระดับประถมปลาย จนไปถึงระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่อย่างมีความสุข

อ่านข่าว : สภาพอากาศวันนี้ ไทยตอนบนเจอ "พายุฤดูร้อน" ใต้มีฝนบางแห่ง 

โอกาสทอง “แรงงาน”ไทย TPQI จัดแนะแนวอาชีพรองรับตลาดแรงงาน 

รู้ไว้เงินไม่หาย! ลูกจ้างทำงาน "วันแรงงาน" โอทีสูงสุด 3 เท่า 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง