แต่กิจการร่วมค้า ITD – และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) หรือ CREC No.10 ยังได้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นส่วนสัญญาที่ 3-1 จากทั้งหมด 14 สัญญา ในช่วงเส้นทาง แก่งคอย-กลางดง-และช่วงเส้นทาง ปางอโศก-บันไดม้า ก่อสร้างแล้วไปแล้ว ร้อยละ 6.82 ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร
สัญญาฉบับนี้ มีมูลค่างานกว่า 9,300 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน
ทำความรู้จัก CRCC No.10
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10(เท็น) (ประเทศไทย) จํากัด จดทะเบียนที่ตั้ง ที่ย่านทุ่งครุ กรุงเทพฯ แต่ในอาคารเดียวกัน ยังมีอีกอย่างน้อย 5 บริษัท ใช้เป็นสำนักงาน ได้แก่
บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด
บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี
กิจการร่วมค้า AKC ฯลฯ

แต่มีข้อมูลว่า พนักงานของทุกบริษัทย้ายออกไปกว่า 3 เดือนแล้ว
จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียน ปี 2561 วัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน
มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายชวนหลิง จาง และ นายโสภณ สัดส่วนการลงทุนจำแนกตามสัญชาติพบเป็นสัญชาติไทย 3 คน รวมร้อยละ 51 สัญชาติจีน 1 คน ร้อยละ 49
บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด แจ้งวัตถุประสงค์ นำเข้าเครื่องอุปโภค เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในครัวเรือน ในฐานข้อมูลปรากฏชื่อกรรมการ 4 คน คือ นายบิงลิน วู นายประจวบ นายมานัส และนายอิทธิพัทธ์

บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด วัตถุประสงค์ ร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้างหลายชนิด รวมถึงวัสดุก่อสร้าง บริษัทนี้ จดทะเบียนปี 2560 ในชื่อไทย แท็กซี่ จำกัด ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ไชน่า เรลเวย์ จัดซื้อ เอเชีย จำกัด ในอีก 2 ปีต่อมา แล้วก็เปลี่ยนชื่ออีก 1 ครั้ง กระทั่งเป็น เอวาน่า ในปัจจุบัน บริษัทมีกรรมการ คนเดียว คือ นายมานัส
บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กรรมการมีสองคน คือ นายประจวบ กับ นายมานัส วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของยานยนต์

อีกบริษัทที่ใช้อาคารร่วมกันคือ กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี ซึ่งไม่ปรากฏในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ทั้ง 4 บริษัท จะเห็นว่า นายมานัส มีชื่อเป็นกรรมการใน 3 บริษัท และชื่อนี้ยังปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ด้วย ส่วนนายประจวบ มีชื่อ เป็นกรรมการใน 2 บริษัท
ข้อมูลการเงิน CRCC No.10
นี่เป็นข้อมูลงบการเงินของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) หรือ CRCC จำกัด ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในปี 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวมกว่า 2,800 ล้านบาท แต่มีหนี้สินกว่า 2,900 ล้านบาท ตัวเลขนี้บ่งบอกว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์
เมื่อดูรายละเอียดในส่วนของสินทรัพย์กว่า 2,800 ล้านบาท พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของเงินให้กู้ระยะสั้น มากกว่า 2,239 ล้านบาท ขณะที่เงินสดและเงินฝากสถาบันการเงินมีเพียง 7 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 0.25 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมเท่านั้น

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 ก็จะเห็นว่ามีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ขาดทุนมากกว่า 199 ล้านบาท
จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 บริษัทขาดทุนสะสมมาตลอด โดยในปี 2566 ขาดทุนสะสมกว่า 208 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แต่เป็นทุนที่ชำระแล้ว 60 ล้านบาท นั่นหมายความว่าบริษัทขาดทุนสะสมเกินกว่าทุนที่มีถึง 3 เท่าตัว
ขณะที่ ITD อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็ประสบปัญหาการขาดทุน สุทธิต่อเนื่อง นักวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์วิเคราะห์ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัท ขาดทุนหลังภาษีถึง 4,950.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนที่ขาดทุน 421.54 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสะสมสูงถึง 12,138.78 ล้านบาท
อีกบริษัทในที่ตั้งเดียวกันกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (เท็น) (ประเทศไทย) จํากัด แต่พบข้อมูลที่น่าสนใจมาก คือ กิจการร่วมค้า AKC เลขทะเบียนนิติบุคคล 993000435168
ที่ตั้ง สนง.ใหญ่ : 493 ซอยพุทธบูชา แยก 11 เขตทุ่งครุ กทม.10140
ประเภทธุรกิจ : กิจกรรมบริการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจอื่นซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (82990)
ลักษณะธุรกิจ : (ล่าสุด) เพื่อร่วมเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของโครงการ
พบข้อมูลว่า หนึ่งในผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้า AKC ได้ร่วมประมูลโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ พบว่า เป็นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับบุคคล กลุ่มบุคคลของ บจก.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) และต่อมาปรากฎข้อมูล ทิ้งงานโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ มูลค่าโครงการ 540.0 ล้านบาท

ในการประมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ พบว่ากิจการร่วมค้า AKC จะเข้าร่วมประมูลและเป็นผู้ชนะราคาจำนวนหลายโครงการ เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานจังหวัดแพร่, สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, โรงพยาบาลสงขลา, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมช่างโยธาทหารเรือ ฯลฯ
และยังมีโครงการก่อสร้างภาครัฐ ที่กิจการร่วมค้า AKC ร่วมกับ บจก.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) มี 1 โครงการ ได้แก่
ปี 2563 โครงการก่อสร้างปรับปรุงที่ดินก่อสร้างอาคารศูนย์บริการลูกค้า อาคารสำนักงาน อาคารอบรมสัมมนาอื่น ๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่าโครงการ 210.0 ล้านบาท ในนามกิจการร่วมค้า AKC (ระหว่าง บจก.อัครกร ดีเวลลอปเม้นท์ กับ บจก.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)
ปี 2564 โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิตบริการและอาคารจอดรถ กรมควบคุมโรค มูลค่า 480.0 ล้านบาท ที่กิจการร่วมค้า AKC ได้เข้าร่วมประมูล โดยมีนิติบุคคลอื่นที่เข้าร่วมประมูลด้วยจำนวน 16 ราย ที่สำคัญ ได้แก่ บมจ.อิตัลไทย ดีเวลลอปเมนท์, บจก.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย)

หมายเหตุ
บจก.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง(ประเทศไทย) เป็นบริษัทในกลุ่มทุนสัญชาติจีนเดียวกันกับ บจก.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (CSCEC) ในกิจการร่วมค้า ซีเอเอ็น (CAN JOINT VENTURE) ประกอบด้วยบริษัทต่าง ๆ ดังนี้
- บจก.เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนจิเนียริ่ง(1994) (AS)
-บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) (บริษัทในกลุ่มทุน ITD)
และบจก.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) มูลค่าโครงการ 11,525.35 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของ CSEC 40 %, NWR 30 %, และ AS 30 % มีระยะเวลาก่อสร้าง 1080 วัน
ปล. ทุนจีนก่อสร้าง ไม่ได้มาแค่รถไฟ. แต่กำลังจะขยายมาในกิจการก่อสร้าง แบบอาคาร สตง.
อ่านข่าว : ขุมทรัพย์ “ไชน่า เรลเวย์” แกะรอยผู้ถือหุ้นจีน-ไทย สร้างอาคารสตง.
พบเสียชีวิตคนที่ 12 เร่งค้นหา 75 ผู้สูญหายเหตุอาคาร สตง.ถล่ม
อัปเดตตึกสตง.ถล่มตาย 11 คนเร่งค้นหาผู้สูญหาย 78 คน