วันนี้ (31 มี.ค.2568) น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนักวิชาการมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. นำตัวอย่างเหล็กเส้นที่เก็บจากอาคาร สตง.ที่ถล่มขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 มาตรวจคุณภาพ
ทั้งนี้ มีนายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และมีนายณัฐพล สุทธิธรรม ตัวแทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วสท. ร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ขั้นตอนการตรวจสอบถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือการตรวจสอบค่าทางเคมีของเหล็ก โดยตัดแบ่งจากเหล็กตัวอย่าง จากนั้นนำไปทำความสะอาด และใช้เครื่องตรวจวัดค่าทางเคมีของเหล็ก โดยธาตุองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน แมงกานีส ฟอสฟอรัส อลูมิเนียม โบรอน โครเมี่ยม ซิลิคอน และทองแดง

ส่วนที่ 2 คือตรวจวัดค่าทางกายภาพ คือ ขนาดของบั้งของเหล็ก และตัวอักษรตีนูนบนเหล็ก และส่วนที่ 3 คือการทดสอบค่าทางกล ทั้งการทดสอบค่าทนทานของเหล็ก ด้วยวิธีการดึงด้วยเครื่องทดสอบ และการดัดงอ ซึ่งนักวิชาการของ สมอ.ระบุว่า ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะบ่งบอกว่าเหล็กมีความแข็งแรงตามมาตรฐานหรือไม่

การทดสอบในวันนี้ จะนำผลทดสอบที่ได้ไปอ้างอิงกับมาตรฐาน มอก.2 ประเภท คือ มอก.24-2548 ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตประเภทเหล็กข้ออ้อย และ มอก. 20-2559 ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตประเภทเหล็กเส้นกลม

สำหรับเหล็กตัวอย่าง 22 ท่อน ที่นำมาทดสอบในวันนี้ แบ่งเป็นเหล็กข้ออ้อย 20 ตัวอย่าง ขนาดตั้งแต่ 12-32 มิลลิเมตร ที่เหลืออีก 2 ท่อนเป็นเหล็กกลมขนาด 24 มิลลิเมตร
ล่าสุดผลตรวจเหล็ก 22 ท่อน ของอาคาร สตง.พบร้อยละ 10 ของตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถระบุยี่ห้อเหล็กที่ไม่ผ่าน
อ่านข่าว : ทุนจีนสวมบริษัทก่อสร้างไทย กรณี “ตึก สตง.ถล่ม”
กทม.จ่อลดระดับเขตประสบสาธารณภัย-ระงับใช้เครน 201 ไซต์ก่อสร้าง