ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะกิจการร่วมค้า คว้างานสร้าง "ตึก 2 พันล้าน"

อาชญากรรม
31 มี.ค. 68
20:04
750
Logo Thai PBS
เจาะกิจการร่วมค้า คว้างานสร้าง "ตึก 2 พันล้าน"
อ่านให้ฟัง
09:44อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประมูลโครงการภาครัฐที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูง แน่นอนว่าหน่วยงานผู้ว่าจ้าง ต้องคัดเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีสถานะทางการเงินที่ จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ตามแผน

การประมูลโครงการภาครัฐที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูง แน่นอนว่า หน่วยงานผู้ว่าจ้าง ก็ต้องคัดเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีสถานะทางการเงินที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ตามแผน 

ไทยพีบีเอส พิจารณาข้อมูลของบริษัท ในกิจการร่วมค้าที่มารับงานก่อสร้างอาคาร สตง.ที่ถล่ม เมื่อเจาะลึกลงไปในข้อมูลงบการเงินของบริษัท ที่เป็นผู้ก่อสร้างอาคาร สตง.ที่ถล่ม

พบว่า หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ สตง.คัดเลือกเอา บริษัทที่มีปัญหาขาดทุนเข้ามารับงาน แม้จะหนึ่งในบริษัทร่วมทุนที่เป็นของคนไทย จะมีประวัติน่าเชื่อถือ เคยรับงานโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมามากมาย

โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ ที่มีมูลค่า การก่อสร้างกว่า 2,136 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซี เป็นผู้ชนะการเสนอราคาเมื่อ ปี 2563 ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท จากจีน

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากทั้ง 2 บริษัท มาร่วมทุนรับงานในไทย แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลการเงินของทั้ง 2 บริษัท สิ่งที่พบคือ ในช่วงตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สถานะการเงินของทั้งคู่มีข้องเกตว่าอาจมีปัญหาต่อเนื่อง

ข้อมูลงบการเงินของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในปี 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวมกว่า 2,800 ล้านบาท แต่มีหนี้สินกว่า 2,900 ล้านบาท ตัวเลขนี้บ่งบอกว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์

เมื่อดูรายละเอียดในส่วนของสินทรัพย์กว่า 2,800 ล้านบาท พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของเงินให้กู้ระยะสั้น มากกว่า 2,239 ล้านบาท ขณะที่ เงินสดและเงินฝากสถาบันการเงินมีเพียง 7 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 0.25 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมเท่านั้น ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 ก็จะเห็นว่า มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ขาดทุนมากกว่า 199 ล้านบาท

ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 บริษัทขาดทุนสะสมมาตลอด โดยในปี 2566 ขาดทุนสะสมกว่า 208 ล้านบาท ขณะที่ บริษัทมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แต่เป็นทุนที่ชำระแล้ว 60 ล้านบาท นั่นหมายความว่า บริษัทขาดทุนสะสมเกินกว่าทุนที่มีถึง 3 เท่าตัว

ไม่ต่างจากงบการเงินของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเงินที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมียอดขาดทุนสุทธิ 37.34 ล้านบาท เป็นช่วงหลังจากที่ ผู้บริหาร บริษัท ถูกดำเนินคดี "ล่าเสือดำ" และขยับขึ้นมาเป็น ขาดทุนสุทธิ 1,104 ล้านบาท ในปี 2563

แม้ดูเหมือนว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2564 ก็กลับขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ในปี 2565 ก็ขาดทุนหนักกว่าเดิมถึง 4,758 ล้านบาท ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 1,072 ล้านบาท และปีล่าสุด 2567 ขาดทุนสุทธิ 5,775 ล้านบาท

ท่ามกลางข้อสังเกตของ ผู้ตรวจสอบบัญชี เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 บริษัทมีขาดทุนสะสมสูงถึง 12,138 ล้านบาท ขณะที่สถานการณ์ด้านสภาพคล่อง กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียน สูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 13,553 ล้านบาท จนต้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ ที่เกิดจากหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนเดิม

ทำให้หลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดทั้ง 2 บริษัท ที่มีสภาพขาดทุนหนักทั้งคู่ ถึงได้รับเลือกและชนะการประมูลงานภาครัฐ แม้ "ไอทีดี" จะมีประวัติ เคยก่อสร้างงานโครงการภาครัฐมาหลายโครงการ แต่การขาดทุนต่อเนื่องแบบนี้ ก็สะท้อนถึงฐานะของบริษัทที่อาจเข้าขั้นวิกฤต เมื่อประมูลงานมูลค่าหลักพันล้านบาทได้ จะมีศักยภาพในการบริหารการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ เป็นไปตามระเบียบทุกประการ โดย สตง.พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีกรมโยธาและทีมวิศวกรเป็นแม่งาน และจะมีการเก็บรวบรวมเอกสาร หลักฐาน ระเบียบหลักเกณฑ์ และสัญญา ทั้งหมด วันนี้

พร้อมยอมรับว่า ในระหว่างการบริหารสัญญาโครงการ มีการตีความแบบก่อสร้าง แต่เป็นการตีความปลีกย่อย โดยไม่ได้มีการแก้ไขสเปค หรือ แก้แบบโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ที่ระหว่างบริหารสัญญาจะมีการตีความแบบก่อสร้าง ซึ่ง สตง. จะเลือกแบบที่ดีที่สุดอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่า บริษัทนี้ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีนจึงมีคุณสมบัติเข้าร่วมงานได้

นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นผู้ลงนามสัญญาว่าจ้าง ยอมรับว่า ขณะนั้น สตง.ไม่ได้ตรวจสอบ ที่ไปที่มา บริษัทผู้รับเหมาจีนเพราะจับคู่ในรูปกิจการร่วมค้า กับ บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ซึ่งมีเครดิตชั้นความน่าเชื่อถืองานภาครัฐ ในระดับสูง

ในระหว่างบริหารสัญญาก็เริ่มเห็นสัญญาณปัญหาความล่าช้าของโครงการ มีคนงานเข้าทำงานครั้งละไม่เกิน 50 คน ทั้งที่ควรมีคนงานไม่น้อยกว่า 300 คนต่อวัน ซึ่งตอกย้ำปัญหาบริษัทผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท ที่มีปัญหาฐานะการเงินแต่สามารถเข้ามาประมูลงานภาครัฐได้ หรือ อาจใช้ ความได้เปรียบ ของบริษัท ที่มีเครดิตเคยรับงานภาครัฐ เป็นแต้มต่อในการเข้าร่วมงาน และพ่วงเอาบริษัทที่ขาดทุนและไม่เคยมีประสบการณ์ในการสร้างตึกสูงเข้ามาร่วมงานด้วย

นอกจากโครงการก่อสร้าง อาคาร สตง.หลังใหม่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ยังได้งาน โครงการรถไฟไทย-จีน กรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ลงนามสัญญา 19 ก.ค.2566 มูลค่างานกว่า 9,000 ล้านบาท 

ขณะที่วันนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยชดเชย และเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่ง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ได้ทำประกันภัยเต็มมูลค่างานตามสัญญา 2,136 ล้านบาท และ ครอบคลุมอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ

รวมถึงการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกอีกจำนวน 100 ล้านบาท และมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างโครงการอื่นๆ ของบริษัทฯ แต่หลังจากนี้ต้องมีการตรวจสอบโครงการที่บริษัทดังกล่าว เข้าไปรับงาน โดยเฉพาะ การรถไฟแห่งประเทศไทย สั่งให้ตรวจสอบทุกโครงการ และรายงาน ภายในวันที่ 2 เม.ย.นี้

อ่านข่าว : แผ่นดินไหว 7.4 จตุจักรตึกถล่มตาย 1 สูญหาย 43 คน

กางข้อมูลอาคาร สตง.ถล่มขณะก่อสร้าง เหตุแผ่นดินไหว 

ลดระดับแผ่นดินไหวสาธารณภัยเป็นระดับ 2 - กทม.แนะเลี่ยง 2 เส้นทาง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง