ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ตั้งอยู่ที่ ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์รวมที่ทำการของหน่วยงานราชการ 29 หน่วย เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มีแนวคิดในการบริหารพื้นที่ราชพัสดุและทรัพยากรของราชการร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดอาคารในวันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ.2556
หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการศูนย์ราชการฯคือ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ลงทุน ก่อสร้างอาคารและบริหารโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร และบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มี 4 อาคาร
อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) รวมหน่วยงานยุติธรรม
- สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
- กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
- กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
- กรมคุมประพฤติ
- ศาลรัฐธรรมนูญ
- สำนักงานอัยการสูงสุด
- ศาลฎีกา
- ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
- ศาลล้มละลายกลาง
- สำนักงานกิจการยุติธรรม

อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) รวมหน่วยงานราชการ
- กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ
- สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- กรมการพัฒนาชุมชน
- กรมที่ดิน
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- กรมธนารักษ์
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 9 กรมสรรพากร
- สถาบันพระปกเกล้า
- สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
- กรมการท่องเที่ยว
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
อาคาร C (กำลังก่อสร้าง)
- ศาลปกครองสูงสุด
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- กรมการท่องเที่ยว
- สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
- สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- สำนักงานอัยการสูงสุด
- สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
อาคาร D (อาคารจอดรถ)
ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการจราจรจากระบบขนส่งสาธารณะสู่ระบบ EV Shuttle Bus ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีทางเดินยกระดับ (Sky Walk) ระยะทาง 205 เมตร บริเวณชั้น 2 เชื่อมต่อกับสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ออกแบบล้ำสมัย ลดใช้พลังงานด้วยแนวคิดตู้เย็น
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าสูงสุด โดยคำนึงถึงสภาพอากาศร้อนชื้นของไทย ซึ่งระบบปรับอากาศมักใช้พลังงานมากจากการสะสมความร้อนและความชื้นเมื่อปิดเครื่อง ทีมผู้ออกแบบจึงเน้นให้อาคารเป็นระบบปิด เปรียบเสมือน "ตู้เย็น" ที่ป้องกันความร้อนและความชื้นจากภายนอก ด้วยวัสดุฉนวนพิเศษและเทคนิคการกักเก็บความเย็นตลอด 24 ชั่วโมง
หลังคา ประกอบด้วยโลหะสะท้อนแสงสูง โครงเหล็ก และฉนวนหนา 6 นิ้ว ลดการถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าหลังคาคอนกรีตทั่วไปถึง 10 เท่า พร้อมออกแบบให้รองรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอนาคต
ผนังเอียงและเปลือกอาคาร ผนังอาคารออกแบบให้เอียงเพื่อลดการรับแสงแดดโดยตรง ลดความร้อนได้ถึง 8 เท่า ส่วนเปลือกอาคารใช้ฉนวนที่มีค่า OTTV 10 วัตต์/ตร.ม. และ RTTV 5 วัตต์/ตร.ม. ป้องกันความร้อนได้ดีกว่าผนังก่ออิฐทั่วไปอย่างเห็นผล

ระบบ Air Flow Window ติดตั้งกระจก 2 ชั้น มีช่องว่างกักความร้อน เมื่อความร้อนจากภายนอกผ่านเข้ามาถึง 28 องศาเซลเซียส ระบบจะดูดความร้อนออกทิ้ง ลดการรั่วซึมของอากาศและรักษาความเย็นภายใน
ระบบ Pond Cooling น้ำในบ่อถูกนำมาไหลวนรอบอาคารเพื่อระบายความร้อนจากระบบปรับอากาศ โดยใช้ดินในบ่อที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส ช่วยดูดซับความร้อน ทำให้น้ำเย็นลงและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างประหยัด
ระบบ Thermal Storage กลางคืนผลิตน้ำเย็นอุณหภูมิ 7.5 องศาเซลเซียส เก็บในถังความจุ 22,500 ลบ.ม. เทียบเท่าเครื่องทำความเย็น 3,000 ตัน ใช้ทำความเย็นในตอนกลางวัน ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มาก
ระบบ Co-Generation ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าและความเย็นที่จุดใช้งาน ลดการสูญเสียพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานถึงร้อยละ 80 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนนโยบายพลังงานในประเทศ
การตกแต่งเพิ่มประสิทธิภาพ เพดานเปลือยผิวคอนกรีตและพื้นหินขัดช่วยกักเก็บความเย็น ประตู 2 ชั้นกรองความร้อนจากการเปิด-ปิด ทำให้ภายในอาคารเย็นสบายตลอดเวลา แม้ใช้งานล่วงเวลา
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ไม่เพียงประหยัดพลังงาน แต่ยังมอบความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งาน ผสานประโยชน์ให้ทั้งผู้ให้บริการอย่าง ปตท. และการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงประเทศชาติที่ได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
ที่มา : ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
อ่านข่าวอื่น :
ด่วน! อพยพคนออกอาคาร A ศูนย์ราชการทรุดตัว-เอียง