ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมโยธาฯ ระดม 200 วิศวกร ตรวจอาคารกระทบแผ่นดินไหว รายงานผลใน 7 วัน

ภัยพิบัติ
30 มี.ค. 68
20:26
1,728
Logo Thai PBS
กรมโยธาฯ ระดม 200 วิศวกร ตรวจอาคารกระทบแผ่นดินไหว รายงานผลใน 7 วัน
อ่านให้ฟัง
08:32อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) แถลงกรมโยธาธิการและผังเมือง แบ่งการตรวจสอบอาคารเป็น 3 กลุ่ม ประชุมครั้งแรก 31 มี.ค.โดยจะรายงานผลให้กับนายกรัฐมนตรีทราบภายใน 7 วัน

วันนี้ (30 มี.ค.2568) จากสถานการณ์แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคาร ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถ.พระราม 6

โดยประสานงานกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน เพื่อรวบรวมวิศวกร ที่จะดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันรวบรวมได้ประมาณ 200 คน

โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้แบ่งอาคาร ในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

- อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการในเขต กรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน

โดยในวันที่ 28-29 มี.ค.2568 กรมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอแล้ว 28 หน่วยงาน จำนวน 89 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติจำนวน 73 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้จำนวน 13 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 3 อาคาร

- อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน อาคารเหล่านี้ เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แนะนำให้เจ้าของอาคาร ให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการ ตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง

ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน จำนวนมากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 1531, 02-299-4191 และ 02-299-4312 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือขอความร่วมมือเจ้าของอาคาร ให้ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ถ้าในกรณีที่เจ้าของอาคารยังไม่ดำเนินการตรวจสอบ จะใช้ข้อบังคับหรือข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารที่ออกเป็นคำสั่งให้เจ้าของอาคารจะต้องดำเนินการตรวจสอบอาคาร

- อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนผ่าน Traffyfondue

สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่

ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลางและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 31 จังหวัด จำนวน 190 อาคาร

กรมโยธาธิการและผังเมืองมีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือพี่น้องประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย สั่งการให้กรมโยธาธิการฯ เป็นหน่วยงานหลัก ในการวางแผนดำเนินการรื้อถอนเครน ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณริมทางด่วนดินแดง

กรมโยธาธิการฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย กรมโยธาธิการฯ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เป็นคณะกรรมการร่วมกันในการรื้อถอน โดยมีผลความคืบหน้า ดังนี้

1.เครนที่ได้รับความเสียหาย มีความยาวประมาณ 45 เมตร จะทำการรื้อถอนด้วย mobile crane ล่าสุดได้ทำการรื้อถอนเครนในส่วนแรก ความยาวประมาณ 35 เมตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว
2.ในส่วนเครนช่วง 10 เมตร ที่เหลือ และส่วนที่พาดด้านบนอาคาร ซึ่งได้ยึดไว้กับอาคารแล้ว จะมีการประชุมคณะทำงาน ฯ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในวันนี้ (30 มีนาคม 2568) หากตรวจสอบพบว่ามีความปลอดภัย จะสามารถเปิดให้ใช้ทางด่วนได้
3.การรื้อถอนเครนส่วนที่เหลือ จะต้องใช้เครนขนาดเล็ก 3 ตัว 3 ขนาด ซึ่งตามแผนจะประกอบติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ในวันที่ 3 เม.ย.2568
4.การรื้อถอนเครนช่วง 10 เมตร ที่เหลือและส่วนที่พาดด้านบนอาคาร จะมีแผนดำเนินการปิดการใช้งานทางด่วนบางช่วงในเวลากลางคืน ของวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 และทำการรื้อถอน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 และสามารถเปิดให้ใช้ทางด่วนได้ตามปกติ

ในส่วนของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่ม กรมโยธาธิการฯ เป็นหน่วยงานหลักที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นรองประธาน นายกสภาวิศวกร เป็นที่ปรึกษา และมีกรรมการประกอบด้วย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยี แห่งเอเชีย (AIT)

ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนัก กองที่เกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นคณะกรรมการ มีคำสั่งแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว

โดยจะประชุมครั้งแรก ในวันที่ 31 มี.ค.2568 และรายงานผลให้นายกรัฐมนตรีทราบภายใน 7 วัน

อ่านข่าว :

แจ้งความ 4 คนจีนลอบขนเอกสาร 32 แฟ้ม ออกจากตึก สตง.ถล่ม

"เอกนัฏ" เก็บหลักฐานเหล็กตึก สตง.ถล่ม หากไร้มาตรฐานเอาผิดถึงที่สุด

"ทวิดา" เผยเร่งกู้ชีวิตที่เหลือ สแกนหาสัญญาณชีพ-ต้องระวังซากตึกทรุดตัว

สตง.โพสต์เร่งประสานช่วยผู้ประสบภัยตึกถล่ม-ตรวจสอบสาเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง