ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนไทม์ไลน์คดี "True ID" ฟ้อง "พิรงรอง"

เศรษฐกิจ
6 ก.พ. 68
13:34
2,673
Logo Thai PBS
ย้อนไทม์ไลน์คดี "True ID" ฟ้อง "พิรงรอง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สรุปคดี "ทรูไอดี" ยื่นฟ้อง กสทช. หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี "ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต" กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มทรูไอดี ชี้มีเจตนากลั่นแกล้ง

วันนี้ (6 ก.พ.2568) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน พิพากษาคดีที่ บริษัท ทรูดิจิทัล ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กรณีออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มทรูไอดี โดยมีคำสั่งจำคุก 2 ปี วงเงินประกันตัว 120,000 บาท และได้รับการประกันตัวแต่ห้ามออกนอกประเทศ

สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ

ปี 2566

- ผู้บริโภคร้องเรียน กสทช. หลังพบว่าแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน True ID มีโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์จาก กสทช. หรือ ฟรีทีวี ซึ่งเป็นการนำรายการจากฟรีทีวีมาถ่ายทอดผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว

- คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่าการมีโฆษณาคั่นขณะเปลี่ยนช่องทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อนและขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ Must Carry

- สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ให้ตรวจสอบว่ามีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ "มัสต์แครี่" (Must Carry)

อ่านข่าว : ทำไมต้องมี ทำไมต้องถือ ? เจาะลึกกฎ Must Have, Must Carry

ปี 2567

- วันที่ 14 มี.ค. 2567 บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าว ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ในข้อหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยมองว่าทำให้ได้รับความเสียหายและอาจส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางบริการของตน

นอกจากนี้ยังกล่าวอ้างว่า สำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) จึงไม่ต้องรับใบอนุญาตจาก กสทช.

ต่อมาบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ ขอให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้

- เม.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำสั่งประทับฟ้อง และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้

- วันที่ 14 พ.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

ปี 2568

- วันที่ 4-5 ก.พ.2568 เครือข่ายนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ผู้บริโภคร่วมเรียกร้อง และลงชื่อสนับสนุน พร้อมชวนติดตามการพิพากษาคดี 6 ก.พ.นี้ ประเด็นนี้ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย โดยเกิดแฮชแท็ก #Saveพิรงรอง #Freeกสทช โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 1,203 รายชื่อ

- วันที่ 6 ก.พ.2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง จำคุก 2 ปี โดยระบุว่า บริษัท ทรูฯ เป็นกิจการ OTT ไม่มีใบอนุญาตจาก กสทช. และ กสทช.ยังไม่ออกแนวปฏิบัติว่า แพลตฟอร์ม OTT ต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. แตกต่างจากจากผู้ประกอบการ IPTV, ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่ประกอบกิจการแบบใช้โครงข่าย ซึ่งต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. และมีแนวปฏิบัติ

แต่การประชุม คณะอนุกรรมการฯ ที่ มี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นประธานได้แจ้งตรวจสอบ ทรูไอดี ที่เป็นแอปพลิเคชันบริการของเอกชน เพื่อตรวจสอบโฆษณาและเนื้อหาที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ชอบเข้าข่ายจงใจกลั่นแกล้ง ตามที่โจทก์ให้การ

ล่าสุดศาลฯ ได้ให้ประกันตัววงเงิน 120,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

- น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ ในคดีดังกล่าวจะอุทธรณ์และต่อสู้ในกระบวนการต่อไป 

อ่านข่าว : 

"สารี" งัด ม.27 "พิรงรอง" สู้เพื่อผู้บริโภคไม่ใช่อยาก "ล้มยักษ์"

ล่าชื่อให้กำลังใจ “พิรงรอง” TRUE ID ฟ้อง กสทช. ศาลตัดสินพรุ่งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง