ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดฉบับเต็มคำพิพากษาจำคุก 2 ปี "พิรงรอง" กับคำว่า "จะล้มยักษ์"

เศรษฐกิจ
6 ก.พ. 68
14:45
14,598
Logo Thai PBS
เปิดฉบับเต็มคำพิพากษาจำคุก 2 ปี "พิรงรอง" กับคำว่า "จะล้มยักษ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้เผยแพร่รายละเอียดของคำพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี "พิรงรอง รามสูต" กรรมการ กสทช. ชี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และคำพูดว่า "ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์" เข้าข่ายจงใจกลั่นแกล้งทรูไอดี

จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อท 147, 71/2566 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 164/2566, 26/2568 ระหว่าง บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ น.ส.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย เรื่อง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

โดยศาลฯ มีคำสั่งพิพากษาจำคุก 2 ปี น.ส.พิรงรอง และได้ให้ประกันตัววงเงิน 120,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

อ่านข่าว : ด่วน! ศาลฯ สั่งจำคุก 2 ปี "พิรงรอง" ผิด ม.157 คดี True ID ฟ้อง

ทั้งนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้เผยแพร่รายละเอียดของคำพิพากษาคดี โดยระบุว่า

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ประเภท Over The Top หรือ (โอทีที) ผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่ไม่มีการบริหารจัดการโครงข่ายเป็นการเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าว ต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. จำเลยเป็นกรรมการใน กสทช. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

โดยกระทำการเร่งรัดสั่งการหรือดำเนินการให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในนามสำนักงาน กสทช. ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการ ทันที โดยที่ กสทช. ยังไม่ได้มีการพิจารณา มีมติ หรือมีคำสั่งการในเรื่องดังกล่าว โดยจำเลยได้กล่าวในที่ประชุม

คณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะล้มกิจการของโจทก์ โดยกล่าวทำนองว่า วิธีการที่เราจะจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ไปทำที่โจทก์โดยตรง แต่ไปทำที่ช่องรายการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นการใช้วิธีตลบหลัง โดยในที่ประชุมมีผู้เข้าประชุมไม่เห็นด้วยกับวิธีการของจำเลยเนื่องจากเป็นการกระทำเฉพาะการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ แต่จำเลยพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา และก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ จำเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้มหรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ โดยใช้คำพูดว่า "ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์"

และต่อมาจำเลยได้ให้สำนักงาน กสทช. แจ้งไปยังผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ทุกรายทราบเกี่ยวกับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์เพียงรายเดียวว่ายังไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์และยังมิได้แสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาตตามขอบเขตการได้รับบริการประเภทโครงข่ายไอพีทีวี

โดยการกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับหนังสือแจ้งของจำเลยมีความเข้าใจว่า โจทก์จงใจกระทำผิดกฎหมายไม่แสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาต ทั้งที่จำเลยทราบข้อเท็จจริงว่า การให้บริการแพลตฟอร์มโอทีที ในรูปแบบแอปพลิเคชัน True ID กสทช. ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เป็นการเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

อ่านข่าว : ย้อนไทม์ไลน์คดี "True ID" ฟ้อง "พิรงรอง"

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยแอปพลิเคชัน True ID เป็นการให้บริการประเภทผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะหรือโอทีที และเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไปซึ่ง กสทช. ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด

โดยจำเลยเป็นกรรมการใน กสทช. มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ระหว่างกำหนดการจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และจำเลยยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์มีอำนาจหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ ข้อพิจารณา กลั่นกรอง และให้ความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ กสทช. มอบหมาย จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 25

ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 จำเลยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีวาระที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชัน True ID โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติการณ์ในการให้บริการของ True ID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ประกอบกับที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะโอทีที เช่นเดียวกับ True ID จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก กสทช. การนำเอาประเด็นลักษณะของการให้บริการของ True ID มาพิจารณาเพียงรายเดียวอาจส่งผลต่อการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ในอนาคตได้

แสดงให้เห็นว่าในการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ คราวดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการให้บริการ True ID ของโจทก์ว่าจะต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือไม่ อย่างไร อีกทั้งก่อนที่จำเลยจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. มีข้อมูลระบุว่า บริการ True ID ของโจทก์เป็นบริการโอทีทีและยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช. ที่ยื่นต่อศาลในคดีนี้ว่า กสทช. ยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดนิยามของคำว่าโอทีทีไว้เป็นการเฉพาะ

ต่อมาได้มีหนังสือไปยังผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ แต่ปรากฏว่าในวันที่ 28 ก.พ.2566 เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการได้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. ตาม เสนอเข้าสู่ระบบงานสารบัญทางคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน กสทช.ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน นาง ก. ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองงานให้แก่รองเลขาธิการ กสทช. ทำให้นาง ก.ได้สอบถามเหตุผลและความจำเป็นในการทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. จะต้องระบุชื่อการให้บริการ True ID ของโจทก์เป็นการเฉพาะ ซึ่งได้รับแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการและเร่งรัดให้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือดังกล่าว และ กสทช. ได้มีหนังสือไปยังผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ รวม 127 ราย 

อ่านข่าว : ครป.ออกแถลงการณ์ กรณีศาลฯ ตัดสินจำคุก "พิรงรอง รามสูต"

ต่อมาวันที่ 2 มี.ค.2566 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4/2566 ซึ่งจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยได้มีการต่อว่าและตำหนิฝ่ายเลขานุการที่มีการจัดทำหนังสือ โดยไม่ได้ระบุหรือเจาะจงถึงการให้บริการ True ID ของโจทก์ และในรายงานการประชุม ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช.จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยระบุเจาะจงถึงบริการ True ID ของโจทก์ แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่าที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2566 และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 4/2566 ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ

เมื่อพิจารณาประกอบกับถ้อยคำที่จำเลยได้กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าว ครั้งที่ 3/2566 ที่ใช้ถ้อยคำทำนองพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา อีกทั้งก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการ จำเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้มหรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ โดยใช้คำพูดว่า "ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์" และจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า "ยักษ์" หมายถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย

พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี

อ่านข่าว :

"สารี" งัด ม.27 "พิรงรอง" สู้เพื่อผู้บริโภคไม่ได้อยาก "ล้มยักษ์

ทำไมต้องมี ทำไมต้องถือ ? เจาะลึกกฎ Must Have, Must Carry

ข่าวที่เกี่ยวข้อง