วันนี้ (6 ก.พ.2568) น.ส.อังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00 น.ของวันที่ 3 ก.พ.2568 ได้รับแจ้งจากผู้ดูแลและให้อาหารเสือโคร่ง ว่า พบเสือโคร่งตัวเมียตาย 1 ตัวในคอก
เสือโคร่งตัวดังกล่าวได้รับบาดเจ็บในพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย โดยเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือเมื่อวันที่ 18.30 น.ของวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าบาดเจ็บจากการติดกับดักบ่วงบริเวณตีนหน้าข้างขวา ก่อนเจ้าหน้าที่จะเคลื่อนย้ายไปรักษาอาการเบื้องต้นที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี และเคลื่อนย้ายไปสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา
เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด เนื่องจากการกินยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ การขับถ่ายปกติ ตรวจสอบร่างกายภายนอกไม่พบร่องรอยที่เกิดจากสัตว์มีพิษที่อาจหลงเข้ามาในคอกกัก จึงได้แจ้งขออนุเคราะห์จากท่านผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ในการให้นายสัตวแพทย์ประจำสบอ.12 ร่วมตรวจชันสูตรซากเพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIoimZzI3j0tpOOsgO2GJ7BZ.jpg)
ขณะที่ น.ส.พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ดำเนินการตรวจสอบและชันสูตรซากเสือโคร่งที่ตายอยู่ภายในกรงเลี้ยงของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผลการตรวจสอบปรากฏดังนี้
เสือโคร่ง ตัวเมียอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี สภาพซากภายนอกบางส่วนมีการย่อยสลาย พบบาดแผลบริเวณข้อเท้าและอุ้งเท้าขวา (แผลจากการโดนแร้วดักสัตว์) และบริเวณเท้าหลังขวาเป็นรูขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในช่องปาก ไม่พบบาดแผล
การเปิดผ่าซาก พบบาดแผลบริเวณขาหน้าขวา พบมีการอักเสบและมีเนื้อตายบริเวณบาดแผล (ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดก่อนหรือภายหลังการตาย) บริเวณเท้าหลังพบมีการอักเสบชั้นผิวหนัง แต่ไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อ, พบการอักเสบของหลอดลมเป็นบริเวณกว้างและมีน้ำอักเสบอยู่ภายใน, มีน้ำอักเสบภายในถุงหุ้มหัวใจปริมาณมาก และเนื้อเยื่อหัวใจมีการอักเสบ
ส่วนไตมีการอักเสบ และบวมโต เยื่อหุ้มไต มีการอักเสบ ภายในกระเพาะอาหารพบมีเศษฟางอยู่ ชั่งน้ำหนักได้ 250 กรัม, ปอด ม้าม ตับ ลำไส้ ไม่พบรอยโรค (บางส่วนเกิดการเน่าสลาย) พบปรสิตภายในทางเดินอาหาร
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIoimZzI3j0tpOOsgO2GJ7BZ.jpg)
ทั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างเลือด ชิ้นเนื้ออวัยวะภายใน และปรสิตภายใน ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุการตาย สาเหตุการตายเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการทำงานของหัวใจ และไตผิดปกติ จากภาวะการอักเสบ
สำหรับซากเสือโคร่ง ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแช่ซากไว้ เพื่อดำเนินการขออนุมัติทำลายซากตามระเบียบ กรมอุทยานฯ ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ.2565
อ่านข่าว : สัตวแพทย์-จนท.ช่วย "เสือโคร่ง" ขาบาดเจ็บติดบ่วงดักสัตว์
เคลื่อนย้าย "เสือโคร่ง" ติดบ่วงแร้ว จากบึงฉวากไปดูแลที่ "ห้วยขาแข้ง"
เทียบลาย "เสือติดบ่วงป่าพุเตย" ตรงกับ "UID6" จากห้วยขาแข้ง
ติดกล้องดูพฤติกรรม-ปรับแผนให้อาหาร "เสือโคร่ง" ขาเจ็บติดบ่วง