จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 26 มีนาคม 2568 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นมากถึง 75,728 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 6,549,576,749 บาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีคดีเกิดขึ้น 874 เรื่องต่อวัน
5 อันดับคดีออนไลน์ที่พบมากที่สุด
✅ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (57%)
มิจฉาชีพแฝงตัวในแพลตฟอร์มออนไลน์ หลอกขายสินค้าหรือบริการที่ไม่มีอยู่จริง
✅ หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น (11%)
เช่น อ้างว่าเหยื่อถูกรางวัลหรือได้รับสิทธิพิเศษ
✅ หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ (11%)
อ้างว่ามีงานง่าย ๆ ทำที่บ้านได้เงินดี แต่ต้องโอนเงินค่าสมัคร
✅ หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (6%)
เสนอการลงทุนปลอมที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง
✅ หลอกลวงให้กู้เงินอันมีลักษณะฉ้อโกงหรือกรรโชก (6%)
ใช้โฆษณาปล่อยกู้ที่ไม่มีจริง และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า
แม้ว่าทางการจะสามารถอายัดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับคดีได้ 5% ของมูลค่าความเสียหาย คิดเป็นเงินประมาณ 295,764,203 บาท แต่ยังถือเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายทั้งหมด การป้องกันตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
มูลค่าความเสียหายลดลงจากปีก่อน
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พบว่า มูลค่าความเสียหายตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2567 ถึง กุมภาพันธ์ 2568 (ระยะเวลา 5 เดือน ของปีงบประมาณ 2568) อยู่ที่ 11,348 ล้านบาท มีความเสียหายลดลง จำนวน 3,335 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายจำนวน 14,683 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2567 ( ตุลาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567)
นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีมูลค่าความเสียหาย อยู่ที่ 65 ล้านบาทต่อวัน ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับ ค่าเฉลี่ยความเสียหายในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 ที่มีความเสียหายเฉลี่ย 117 ล้านบาทต่อวัน
5 วิธีป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์
1 ตรวจสอบเพจหรือโปรไฟล์ต้องสงสัยด้วยการค้นหารูปภาพย้อนกลับ
อ่านวิธีการตรวจสอบภาพได้ที่นี่ แชร์เก็บไว้ วิธีตรวจสอบภาพ จริง-ปลอม ? : https://www.thaipbs.or.th/now/content/1986
2 ตรวจสอบเลขบัญชีและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ขายหรือผู้ให้บริการ
ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ "Blacklistseller" หรือ "ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (PCT)"
3 เปิดใช้งานการแจ้งเตือนธุรกรรมทางการเงิน
ตั้งค่าการแจ้งเตือน SMS หรือแอปพลิเคชันธนาคาร เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของบัญชี หรือจำกัดมูลค่าวงเงินโอน / ถอน / ซื้อสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโอนเงินเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน
4 ใช้รหัสผ่านที่ปลอดภัยและเปิดใช้งาน 2FA
ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก และเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองชั้น (Two-Factor Authentication) เพื่อป้องกันบัญชีถูกแฮก
5 อย่าหลงเชื่อข้อเสนอที่ดูดีเกินจริง
หลีกเลี่ยงสินค้าที่มีราคาถูกเกินจริง, การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินปกติ และระวังโปรโมชั่นหรือข้อเสนอที่ดูน่าสนใจจนเกินไป
นอกจากนี้ยังสามารถใช้แพลตฟอร์มตรวจสอบข้อมูล เช่น Thai PBS Verify, Cofact Thailand, และ Google Fact Check Explorer เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ แต่หากถูกหลอกให้แจ้งความผ่าน "www.thaipoliceonline.com" หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว