หลายคนกำลังรอคอยวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ให้เข้ามาในประเทศไทยโดยเร็ว ล่าสุดมีเข้ามาและเริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองคิวฉีดแล้ว กับวัคซีนไฟเซอร์ ชนิดไบวาเลนต์ (bivalent) เป็นรุ่นใหม่ พัฒนาจากรุ่นแรก โมโนวาเลนต์ (Monovalent)
เปิดจองคิวฉีดวัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่
หลายโรงพยาบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์แล้ว อาทิ
สถาบันโรคผิวหนัง เปิดให้บริการฉีดเข็มกระตุ้น แก่บุคลากรด่านหน้า กลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง และประชาชนทั่วไป ที่ได้รับรับวัคซีนโควิด-19 เข็มล่าสุด นานเกิน 4 เดือน เข้ารับบริการวันจันทร์-เสาร์ (หยุดวันอาทิตย์) ระหว่างเวลา 9.00 - 15.00 น. ตลอดเดือนมีนาคม ณ ชั้น 12A อาคารสถาบันโรคผิวหนัง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
จองคิวล่วงหน้าได้ทางนี้ สถาบันโรคผิวหนัง (https://covid19.iod.go.th/vaccine) ก่อนวันฉีด 1 วัน สามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนได้ ผ่านแอปพลิเคชัน "Vaccine บางซื่อ" ระบบ IOS หรือระบบ Android หรือ Walk in ได้ตามวันเวลาทำการ
ส่วนโรงพยาบาลราชวิถี ก็เปิดจองคิวออนไลน์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์เข็มกระตุ้น เข็มที่ 2, 3, 4, 5 สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หรือ Walk in ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ) เวลา 08.30-13.30 น. ณ ห้องฉีดยา ชั้น 1 อาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี
ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า ลาดกระบัง เปิดบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์ฟรี สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 หรือประชาชนทั่วไป ที่ต้องการฉีดเข็มกระตุ้น เข้ารับวัคซีนได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00-15.30 น. ที่อาคารสานสองวัย ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า
โรงพยาบาลศณิสา (ชินเขต) เปิดลงทะเบียน Walk in ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์เข็มกระตุ้น เข็มที่ 2, 3, 4, 5 ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุด) เวลา 08.00 -17.00 น.
โรงพยาบาลธนบุรี เปิดบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของเด็ก อายุ 12 ปีขึ้นไป ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 มีนาคม ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. และ 13.00-15.00 น. (วันละ 50 คน) ณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ อาคาร 3 ชั้น 1 ผู้สนใจสามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่เบอร์โทร. 06-2871-3083 ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น.
โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดจองวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้บริการทุกวันเสาร์, อาทิตย์ และจันทร์ ระหว่างเวลา 08.00 - 16.00 น. โดยมีค่าบริการทางแพทย์ 400 บาท (ชำระ ณ วันที่มาใช้บริการ)
โรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์ฟรี โดยสแกน QR Code และรับการฉีดวัคซีน ณ อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 2 โรงพยาบาลศรีธัญญา ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 ตามเวลาดังนี้ 09.00-10.00 น. จำนวน 50 คน, 10.00-11.00 น. จำนวน 50 คน, 13.00-14.00 น. จำนวน 50 คน และ 14.00-15.00 น. จำนวน 50 คน
วัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่มาจากไหน
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์ (bivalent) นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีใต้ จำนวน 501,120 โดส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถือเป็นครั้งที่สอง หลังจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เคยสนับสนุนวัคซีนแอสตราเซนเนกาให้ไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 470,000 โดส
ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่
ในด้านประสิทธิภาพนั้น องค์การอนามัยโลก มีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มขึ้นไป จะช่วยลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 28-56% ส่วนความปลอดภัยและผลในการป้องกันโรค ไม่แตกต่างกัน
ในเรื่องนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้อธิบายถึงประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนต์ผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ว่า ผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์หลักๆ ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน Pfizer รุ่นเก่า (Monovalent) เทียบกับวัคซีนรุ่นใหม่ (Bivarent) โดยเก็บตัวอย่างซีรั่มหลังฉีดเข็มกระตุ้น (เข็ม 4) ที่ 1 เดือน เปรียบเทียบโดยใช้ไวรัสตัวจริง พบว่า
1.วัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นใหม่ สามารถให้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสสายพันธุ์กลุ่มโอมิครอนได้มากกว่า กลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นเก่า โดยเฉพาะไวรัสกลุ่ม BA.4/BA.5 ซึ่งในวัคซีนรุ่นใหม่ ภูมิถูกกระตุ้น จากก่อนฉีดขึ้นมา 13 เท่า ในขณะที่วัคซีนรุ่นเก่ากระตุ้นขึ้นมาได้ประมาณ 3 เท่า
2.ความสามารถในการกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ ดูเหมือนจะได้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสกลุ่มที่เป็นลูกหลานของ BA.4/BA.5 ได้พอสมควร เช่น กลุ่ม BA.4.6, BQ.1.1 ตัวเลขภูมิที่กระตุ้นขึ้นมาได้อยู่ระดับ 8.7-11.1 เท่า เทียบกับวัคซีนรุ่นเดิม ที่ 1.8-2.3 เท่า
3.เมื่อดูภูมิจากวัคซีนรุ่นใหม่ กับไวรัสที่มีบรรพบุรุษเป็น BA.2 คือ กลุ่ม BA.2.75 และ XBB ความจำเพาะต่อไวรัสจะลดลง เนื่องมาจากวัคซีนเริ่มไม่ตรงกับสายพันธุ์ไวรัส ภูมิต่อ BA.2.75 เพิ่มขึ้น 6.7 เท่า และต่อ XBB เพิ่ม 4.8 เท่า
4.จุดที่น่าสนใจคือจำนวนเท่าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับภูมิก่อนฉีดต่อไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ที่ต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขที่ออกมาอยู่ที่ 196 ต่อ BA.2.75 และ 84 ต่อ XBB ซึ่งค่อนข้างต่ำ และอาจจะไม่เพียงพอ ต่อการป้องกัน XBB ในบางคนที่ได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว เปรียบเทียบให้เห็นได้ชัด คือ 1 เดือนหลังฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ จะมีภูมิป้องกัน XBB ได้พอๆ กับภูมิของเราตอนนี้ที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้นใดๆ กับไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งคงติดได้ไม่ยาก แม้เราจะมีภูมิจากวัคซีนรุ่นใหม่มาแล้ว
ดร.อนันต์ ยังระบุว่า แต่สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว และถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ ตัวเลขจะสูงกว่าคนไม่เคยติดมาก่อน จากข้อมูลชุดนี้ ภูมิต่อ XBB ในคนที่ไม่เคยติดได้แค่ 55 แต่คนที่เคยติดแล้วได้ 131 ซึ่งเห็นความแตกต่างอยู่ครับ
ที่มาข้อมูล เฟซบุ๊ก CVC กลางบางซื่อ, Anan Jongkaewwattana, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศรีธัญญา, โรงพยาบาลปิยะเวท, โรงพยาบาลธนบุรี, โรงพยาบาลศณิสา (ชินเขต), ศูนย์บริการสาธารณสุข 45
#ThaiPBS #โควิด-19 #ไฟเซอร์ #วัคซีนโควิด