ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รวม “ทฤษฎีสมคบคิด” ในโครงการ “อะพอลโล”


Logo Thai PBS
แชร์

รวม “ทฤษฎีสมคบคิด” ในโครงการ “อะพอลโล”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/815

รวม “ทฤษฎีสมคบคิด” ในโครงการ “อะพอลโล”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

แม้จะผ่านมาเกิน 50 ปีหลังจากที่มนุษย์คนแรกลงเหยียบบนพื้นผิวของดวงจันทร์ จนเรากำลังจะกลับไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง ก็ยังคงมีมนุษย์บางกลุ่มที่เชื่อว่าการเหยียบดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีก่อนนั้น เป็นเรื่องเท็จ ย้อนกลับมามองตลอดเวลา 50 ปีของมนุษยชาติว่าเราเถียงกันเรื่องการไปเหยียบดวงจันทร์อย่างไรบ้าง แล้วทฤษฎีสมคบคิดใดบ้างที่ยังคงเหลืออยู่ทั้งภายในทั้งสื่อกระแสหลักและรอง

ภาพถ่ายนักบินอวกาศจากภารกิจ Apollo 17 คู่กับธงชาติสหรัฐฯ และรถยนต์สำหรับขับบนดวงจันทร์

ดวงจันทร์ หนึ่งในสถานที่ที่เราสามารถมองเห็นมันได้แทบทุกคืน สถานที่ที่ว้าเหว่ เงียบสงบ แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นกัน น่าประหลาดที่ตลอด 50 ปีหลังจากการเหยียบดวงจันทร์ในภารกิจอะพอลโล (Apollo) 11 ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่ออย่างเป็นกิจจะลักษณะว่า การส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในปี 1969 และภารกิจหลังจากนั้น เป็นเพียงเรื่องโกหก เรื่องหลอกลวงครั้งใหญ่ของมนุษยชาติเท่านั้น

ถึงแม้ดูเหมือนว่าทฤษฎีที่กล่าวว่า “การไปลงจอดของอะพอลโลบนดวงจันทร์ไม่เป็นความจริง” มักโผล่ขึ้นมาในสังคมช่วงหลังจากโครงการอะพอลโลจบไปได้สักพักใหญ่ หรือเกิดขึ้นในยุคภายหลังจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต แต่ว่าความเป็นจริงกลุ่มผู้ที่พูดถึงทฤษฎีสมคบคิดว่าการไปเหยียบดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องไม่จริงนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเหยียบดวงจันทร์แล้วด้วยซ้ำ และที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชาติไหนอื่นไกล แต่กลับคือคนอเมริกันด้วยกันเสียเอง

ภาพถ่ายนักบินอวกาศจากภารกิจอะพอลโล่ 17 ที่กำลังทำการตักดินตัวอย่างจากบนพื้นผิวของดวงจันทร์ พร้อมรถยนต์ขับเคลื่อนบนดวงจันทร์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ทำให้รถยนต์สามารถพานักบินอวกาศเดินทางบนดวงจันทร์

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าการไปลงจอดบนดวงจันทร์ของ NASA นั้นเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง ไม่เป็นความจริง และเป็นเพียงการตบตาของวงการสื่อบันเทิงของสหรัฐฯ ที่ถูกควบคุมโดยรัฐกลางสหรัฐฯ อีกทีหนึ่ง

หนึ่งในเอกสารสำคัญของกลุ่มผู้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่าการไปเหยียบดวงจันทร์นั้นไม่เป็นความจริงและยังคงถูกหยิบยื่นมาใช้ในการอ้างถึงความไม่จริงของการเดินทางเหล่านั้นคือ หนังสือ “We Never Went to the Moon” (เราไม่เคยเหยียบดวงจันทร์) ในปี 1974 ของบิล เคย์ซิง (Bill Kaysing) ซึ่งตัวเขาคือหนึ่งในฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทร็อกเก็ตไดน์ (Rocketdyne) บริษัทผู้จัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ (Supplier) ให้กับ NASA ในอดีต

เนื้อหาในหนังสือที่บิลเขียนขึ้นมานั้นเป็นการอธิบายเรื่องของทฤษฎีต่าง ๆ ที่ตัวของเขาคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือหลักฐานชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติภายในโครงการอะพอลโลที่เขาคิดว่ามันไม่ตรงตามสามัญสำนึกของเขา แล้วสิ่งไหนบ้างที่เขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้

อย่างแรกคือความยากของงานวิศวกรรมเบื้องหลังโครงการอะพอลโล ซึ่งในสามัญสำนึกของคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นและทำงานในบริษัทที่เป็นผู้จัดหาหลักให้กับ NASA ยิ่งทำให้เขาเชื่อว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่เทคโนโลยีในเวลานั้นจะสามารถส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ได้ อีกทั้งเขายังรู้สึกได้ถึงความผิดปกติและความแปลกประหลาดที่ไม่ตรงกับสามัญสำนึกของเขาในหลักฐานที่เผยแพร่ภายหลังการไปเหยียบดวงจันทร์ของโครงการอะพอลโล เช่น ธงชาติสหรัฐฯ ที่โบกสะบัดทั้งที่ไม่มีชั้นบรรยากาศบนดวงจันทร์ ฉากหลังท้องฟ้าบนดวงจันทร์ที่ไม่มีดวงดาว และล้อของรถโรเวอร์บนดวงจันทร์ทำไมไม่แบน

ในยุคทศวรรษที่ 1960 การมาถึงของคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเป็นเรื่องที่เหมือนฝัน กล่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถคำนวณค่าทางคณิตศาสตร์เป็นล้าน ๆ ค่าภายในเวลาไม่ถึงนาที คือสิ่งที่ยากต่อการทำความเข้าใจของคนในยุคสมัยนั้น อีกทั้งเรื่องของจรวดที่ใช้ เทคโนโลยีที่ในยุคนั้นน่าจะยังไม่สามารถส่งมนุษย์ไปลงจอดได้อย่างแม่นยำบนดวงจันทร์ราวกับจับวาง

ภาพถ่ายนักบินอวกาศคู่กับธงชาติสหรัฐฯ จากภารกิจ Apollo 17 ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าธงชาติสหรัฐฯ นั้นถูกขึงตรึงกับเสาด้านบนอยู่ ทำให้ธงชาติสหรัฐฯ กางออกสวยงามบนพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีชั้นบรรยากาศได้

แต่ในความเป็นจริง เทคโนโลยีในยุคนั้นเพียงพอแล้วต่อการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ทั้งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ภายในยานอวกาศที่ช่วยคำนวณค่าต่าง ๆ และระบบลงจอดบนดวงจันทร์ อีกทั้งการส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ก็มีรากฐานมาจากองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่สั่งสมมาจากโครงการสำรวจอวกาศในอดีตทั้งโครงการมาริเนอร์ (Mariner) เรนเจอร์ (Ranger) เซอร์เวเยอร์ (Surveyor) และโครงการอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นดั่งบทเรียนให้กับโครงการอะพอลโล ดังนั้นจึงไม่แปลกหากสามัญสำนึกของคนในสมัยนั้นจะคิดว่าเทคโนโลยีในยุคที่ตนมีชีวิตอยู่เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์

ส่วนเรื่องของธงชาติสหรัฐฯ ซึ่งโบกสะบัดพลิ้วไหวบนดวงจันทร์ทั้งที่ดวงจันทร์นั้นไม่มีชั้นบรรยากาศและลม เสาของธงที่นักบินอวกาศพวกเขานำไปปักบนดวงจันทร์นั้นติดตั้งเสาค้ำธงไว้เพื่อให้ธงชาติสหรัฐฯ กางออกอย่างสวยงาม ไม่ลู่เหี่ยวไปกับตัวเสาที่ปักอยู่กับพื้น

เรื่องของภาพถ่ายของดวงจันทร์ที่ว่าไม่มีดวงดาวอยู่เป็นฉากหลังเลย คำตอบสำหรับข้อสังเกตนี้คือเวลาที่นักบินอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นช่วงเวลากลางวันของดวงจันทร์ และเหตุเพราะดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ ดวงจันทร์จึงรับแสงสว่างอย่างเต็มที่ต่างจากโลกที่มีชั้นบรรยากาศและเมฆ ดังนั้นความสว่างของพื้นผิวดวงจันทร์ในเวลากลางวันจึงสว่างกว่าโลกมาก ดวงดาวที่มีค่าความสว่างที่ต่ำมากจึงเห็นได้เพียงในเวลากลางคืน และถูกแสงอาทิตย์กลบแสงดาวเหล่านั้นไปหมด

สุดท้ายคือเรื่องล้อของรถโรเวอร์ที่ถูกนำไปใช้งานบนดวงจันทร์ในภารกิจ อะพอลโล 15 16 และ 17 นั้นหากเป็นยางรถยนต์ธรรมดาที่ทำมาจากยาง ยางควรจะระเบิดและแตกในสภาวะที่ไม่มีชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ก่อนที่พวกเขาจะได้ขับเสียอีก แต่ที่ล้อของรถโรเวอร์เหล่านั้นคงสภาพอยู่ได้เพราะในความเป็นจริงแล้ว ล้อรถได้รับการออกแบบให้ยางยืดหยุ่นได้แม้จะไม่มีอากาศภายในล้อ มันทำมาจากเหล็กทอเคลือบสังกะสี ซึ่งการทอนั้นทำให้ตัวขอบล้อมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และทนทานต่อการขับขี่บนพื้นผิวที่ขรุขระของดวงจันทร์เป็นอย่างมาก และยังช่วยป้องกันการสึกกร่อนของเนื้อโลหะจากฝุ่นผงบนดวงจันทร์อีกด้วย

หากว่าตามตรง หลักฐานที่พิสูจน์ว่าการเดินไปยังดวงจันทร์และกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัยของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องจริงและมีอยู่มากมาย แต่ในวันที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งกำลังตั้งเป้าที่จะกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง ก็ยังมีคนที่ไม่เชื่อว่ามนุษย์กลุ่มหนึ่งเคยเดินทางไปดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีก่อนแล้วจริง ๆ

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อะพอลโลโครงการอะพอลโลโครงการอพอลโลApollo MissionApollo programApolloThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด