ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก” รวมเรื่องน่ารู้และการป้องกันภัยร้าย “โรคมะเร็ง"


วันสำคัญ

3 ก.พ. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก” รวมเรื่องน่ารู้และการป้องกันภัยร้าย “โรคมะเร็ง"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/58

4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก” รวมเรื่องน่ารู้และการป้องกันภัยร้าย “โรคมะเร็ง"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

4 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ได้กำหนดให้เป็น “วันมะเร็งโลก” โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก มีความรู้และความเข้าใจต่อโรคมะเร็ง 

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันโรคร้ายแรงชนิดนี้ กลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนบนโลกเป็นอันดับต้น ๆ Thai PBS รวบรวมเอาเรื่องราวน่ารู้ และการป้องกันโรคมะเร็ง มาบอกกัน...

ทำความรู้จัก “โรคมะเร็ง”

“โรคมะเร็ง” เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเซลล์ร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ทำให้เซลล์มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้ เกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผ่านระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอยู่หลายปัจจัย อาทิ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง (อาหารปิ้งย่าง รมควันจนไหม้เกรียม) การมีภาวะโรคอ้วน การติดเชื้อไวรัส การได้รับรังสี UV รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม

ทั้งนี้มีการรักษามะเร็งหลากหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี ซึ่งอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย

สถิติ “โรคมะเร็ง” ที่ควรรู้

  • เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการประเมินผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก พบว่ามีจำนวนราว 19.3 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยในทวีปเอเชียราว 9 ล้านคน ยุโรป 4 ล้านคน อเมริกาเหนือ 2 ล้านคน อเมริกาใต้ 1.4 ล้านคน แอฟริกา 1.1 ล้านคน และโซนโอเชียเนียอีกราว 2 แสนคน 
  • นอกจากนี้ WHO ยังได้ประมาณการว่า ในปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 28.9 ล้านคน ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม ถูกบันทึกว่าเป็นโรคที่พบมากที่สุด ขณะเดียวกัน มะเร็งปอด เป็นโรคที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในโลก รวมทั้งในทุก ๆ ปี จะพบผู้ป่วยมะเร็งในวัยเด็กกว่า 4 แสนรายด้วยกัน

  • ในประเทศไทย รายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า คนไทยเป็นมะเร็งรายใหม่ วันละ 382 คน หรือ 139,206 คนต่อปี พร้อมกันนี้ สถิติสาธารณสุข ปี 2562 ยังระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน  หรือ 84,037 คนต่อปี 
  • โรคมะเร็งที่พบมากในประชากรชายไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนโรคมะเร็งที่พบมากในประชากรหญิงไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งปากมดลูก  

รอบรู้...สู้มะเร็ง

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด เกิดจากสาเหตุภายนอกที่ป้องกันได้ ดังนั้น หากอยากหลีกเลี่ยงมะเร็งร้าย การดูแลร่างกายและจิตใจถือเป็นสิ่งสำคัญ 

  • หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน 
  • เน้นกินอาหารที่มีกากใยมาก ลดอาหารไขมันสูง 
  • เลี่ยงเมนูปิ้งย่าง อาหารแปรรูป หมักดอง 
  • หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน ๆ 
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ 
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด

นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการสังเกตความผิดปกติของร่างกาย อาทิ

  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดแน่นท้อง ปวดกระดูก
  • มีอาการไอเรื้อรัง เจ็บคอ เสียงเปลี่ยน
  • มีหูด ไฝ ปาน หรือบริเวณใด ๆ ของผิวหนังที่มีสี หรือมีลักษณะเปลี่ยนไป
  • มีก้อนผิดปกติบริเวณเต้านม ไหล่ รักแร้
  • มีภาวะกลืนลำบาก รู้สึกอิ่มทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับประทานอาหาร
  • มีแผลเรื้อรังที่ไม่ยอมหาย
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย หากพบความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาทันที

การตรวจคัดกรองมะเร็งตามช่วงวัยเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้น

แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 25-39 ปี)

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีทุก 3 ปี
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังและการสังเกตความผิดปกติ

แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับวัยกลางคน (อายุ 40-59 ปี)

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ในกลุ่มเสี่ยง
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย
  • การติดตามการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากประจำปี
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มเสี่ยง
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากประจำปี

สิทธิการรักษามะเร็งในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)

การตรวจคัดกรองมะเร็งพื้นฐาน ครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งตามแนวทางที่กำหนดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

การรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ตามหลักการนโยบาย Cancer Anywhere

Cancer Anywhere คืออะไร

Cancer Anywhere เป็นบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถย้ายหน่วยบริการหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐที่พร้อมให้บริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการทำใบส่งตัวหรือประสานงานด้วยตนเอง ผู้ป่วยและญาติสามารถมั่นใจได้ว่าการรักษาจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ


ประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจาก Cancer Anywhere

รู้ศักยภาพของโรงพยาบาล
ผู้ป่วยสามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ในการเลือกโรงพยาบาลรัฐที่มีศักยภาพและทรัพยากรเพียงพอสำหรับการรักษาโรคมะเร็งในระยะต่าง ๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคิวที่ยาวนานหรือการรักษาล่าช้า

ไม่ต้องเสียเวลาขอประวัติ
ข้อมูลการรักษาทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลกลาง ทำให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถเข้าถึงประวัติการรักษาได้โดยตรง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปขอประวัติจากโรงพยาบาลเดิม

ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที
ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องรอ 15 วันตามระบบปกติ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการประสานงานให้ทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ระบบติดตามการรักษาผ่านแอปพลิเคชัน
Cancer Anywhere Application ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถติดตามนัดหมาย การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาได้สะดวกและครบถ้วน


ขั้นตอนการรับบริการ Cancer Anywhere

สำหรับผู้ป่วยเก่า

  1. แจ้งความประสงค์
    หากต้องการย้ายโรงพยาบาล แจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่รักษาอยู่ในปัจจุบัน
     
  2. เลือกโรงพยาบาลใหม่
    ปรึกษากับเจ้าหน้าที่เพื่อเลือกโรงพยาบาลที่สะดวกและเหมาะสมสำหรับการรักษา
     
  3. ประสานงานส่งต่อ
    เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งต่อข้อมูลและประวัติการรักษาไปยังโรงพยาบาลปลายทาง
     
  4. รับบัตรนัด
    ผู้ป่วยจะได้รับบัตรนัดผ่านแอปพลิเคชัน Cancer Anywhere เพื่อเข้ารับการรักษาตามกำหนด

สำหรับผู้ป่วยใหม่

  1. วินิจฉัยโรค
    เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
     
  2. แจ้งความประสงค์
    หากต้องการย้ายหน่วยบริการ ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ตรวจวินิจฉัย
     
  3. เลือกโรงพยาบาล
    ปรึกษากับเจ้าหน้าที่และแพทย์เพื่อเลือกโรงพยาบาลที่เหมาะสม
     
  4. รับบัตรนัด
    เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งต่อข้อมูลและออกบัตรนัดให้ผู้ป่วย
     
  5. ติดตั้งแอปพลิเคชัน Cancer Anywhere
    เจ้าหน้าที่จะช่วยติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถติดตามการรักษาและข้อมูลนัดหมายต่าง ๆ ได้สะดวก

Cancer Anywhere Application

แอปพลิเคชัน Cancer Anywhere เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ Cancer Anywhere โดยมีฟีเจอร์และประโยชน์ดังนี้

1.ติดตามประวัติการรักษา
ผู้ป่วยสามารถดูข้อมูลการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัด การฉายรังสี และการผ่าตัด

2.ข้อมูลนัดหมาย
แอปจะแสดงตารางนัดหมายการตรวจหรือการรักษา พร้อมทั้งแจ้งเตือนก่อนถึงวันนัด

3.ส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษา
แอปช่วยให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาได้โดยตรง ทำให้การรักษาต่อเนื่องเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

4.ระบบจองคิว
เจ้าหน้าที่สามารถจองคิวการรักษาผ่านแอปโดยตรง และผู้ป่วยสามารถตรวจสอบคิวได้ทันที


ข้อดีของแอปพลิเคชัน Cancer Anywhere

  • ช่วยลดความซับซ้อนในการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล
  • ลดระยะเวลาการรอคอยในการรับการรักษา
  • ทำให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่สามารถติดตามข้อมูลการรักษาได้อย่างโปร่งใส

หากไม่มีแอปพลิเคชัน ผู้ป่วยยังสามารถยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดได้ แต่จะไม่สามารถติดตามประวัติการรักษาได้ผ่านแอป

สิทธิการรักษามะเร็งในระบบประกันสังคม

ระบบประกันสังคมครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งที่ได้รับการกำหนดไว้ 10 ชนิด ได้แก่

  1. มะเร็งเต้านม
  2. มะเร็งปากมดลูก
  3. มะเร็งรังไข่
  4. มะเร็งโพรงจมูก
  5. มะเร็งปอด
  6. มะเร็งหลอดอาหาร
  7. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
  8. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  9. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  10. มะเร็งต่อมลูกหมาก

เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการรักษามะเร็งในระบบประกันสังคม

1. สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษา

ผู้ประกันตนมีสิทธิรับการรักษาโรคมะเร็งจากสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยไม่มีการจำกัดจำนวนเงินและจำนวนครั้งในการรักษา

สถานพยาบาลต้องไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ประกันตน ยกเว้นบริการที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม

2. การจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคมะเร็งชนิดอื่น

กรณีมะเร็งชนิดที่อยู่นอกเหนือจาก 10 ชนิด หากต้องใช้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อรายต่อปี

3. การส่งต่อรักษามะเร็ง

หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ไม่สามารถให้การรักษาได้ จะต้องส่งต่อผู้ประกันตนไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า (Supra Contractor)

ผู้ประกันตนสามารถเลือกสถานพยาบาลเอง แต่ต้องแจ้ง Call Center ของสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้ระบบรองรับการส่งต่ออย่างถูกต้อง

4. การชำระเงินค่ารักษามะเร็ง

  • สำหรับกรณีที่มีน้ำหนักสัมพัทธ์ปรับตามวันนอน (Adjusted Relative Weight: AdjRW) ≥ 2 สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในอัตราไม่เกิน 15,000 บาทต่อ 1 AdjRW
  • กรณีที่ AdjRW < 2 ผู้ประกันตนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

5. ค่าบริการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง

สำหรับกรณีที่มี AdjRW ≥ 2 จะมีการจ่ายค่าบริการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งเพิ่มเติม ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศของสำนักงานประกันสังคม

การตรวจสอบและคืนเงินค่ารักษามะเร็ง

สำนักงานประกันสังคมมีสิทธิในการตรวจสอบข้อมูลการรักษามะเร็ง หากพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องหรือมีการจ่ายเงินเกินความเป็นจริง สำนักงานจะเรียกคืนค่ารักษาพยาบาลหรือหักจากค่าบริการในครั้งต่อไป

วิธียื่นเรื่องเพื่อใช้สิทธิรักษามะเร็ง

ผู้ประกันตนสามารถยื่นเรื่องเพื่อรักษามะเร็งได้ที่

  • สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-12
  • สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข)

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิการรักษาโรคมะเร็งในระบบประกันสังคม สามารถติดต่อสายด่วนประกันสังคมที่เบอร์ 1506 หรือเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม

สิทธิการรักษามะเร็งสำหรับข้าราชการ

ครอบคลุมค่ารักษามะเร็งทั้งหมด สิทธิการรักษามะเร็งสำหรับข้าราชการจะครอบคลุมโรคมะเร็งหลายชนิดที่ได้รับการยอมรับในหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง โดยทั่วไปจะครอบคลุมโรคมะเร็งที่พบบ่อยและได้รับการยอมรับในระบบการรักษาพยาบาล เช่น

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งตับอ่อน
  • มะเร็งผิวหนัง
  • มะเร็งรังไข่ 

    รายการมะเร็งที่ครอบคลุมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งข้าราชการสามารถตรวจสอบรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

สิทธิเบิกยารักษามะเร็งตามจริง การเบิกค่ายารักษามะเร็งตามจริงนั้น ข้าราชการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับยาและการรักษาที่จำเป็น โดยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกรมบัญชีกลาง 

สิทธิครอบคลุมครอบครัวในการรักษามะเร็ง สิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงบิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะอยู่ในกฏระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติของกรมบัญชีกลาง

 

ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีสติ และมีกำลังใจที่เข้มแข็ง เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายผ่านพ้นไปได้ 

ปัจจุบันสถาบันมะเร็งแห่งชาติจัดทำเว็บไซต์ All about Cancer ส่งเสริมความรอบรู้ด้านโรคมะเร็ง สามารถเข้าไปศึกษาและอัปเดตข้อมูลได้ 

โรคมะเร็ง...รู้เร็ว รักษาไว โอกาสหายสูง ขอให้สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยกันทุกคน...

อ้างอิง

  • www.nci.go.th/th/New_web/index.html
  • www.allaboutcancer.nci.go.th/AboutUs/IndexDetail?id=18
  • www.who.int/health-topics/cancer#tab=tab_1
  • www.worldcancerday.org 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งโรคมะเร็งวันมะเร็งโลก
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด