ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ! “โลก” อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 2°C เมื่อ 17 พ.ย. 66


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

23 พ.ย. 66

สุพัตรา ผาบมาลา

Logo Thai PBS
แชร์

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ! “โลก” อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 2°C เมื่อ 17 พ.ย. 66

https://www.thaipbs.or.th/now/content/522

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ! “โลก” อุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 2°C เมื่อ 17 พ.ย. 66
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา “โลก” มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 2°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรม (ช่วงปี 1850-1900) โดยข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นชั่วคราว แต่มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

Samantha Burgess รองผู้อำนวยการหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service: C3S) ของ ECMWF (European Centre for Medium-Range Weather Forecasts) ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter เดิม) ว่า วันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ช่วงปี 1850-1900) โดยอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07°C แม้ว่าจะสูงเกินเกณฑ์ชั่วคราว แต่คาดว่าโลกจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนขยับเข้าสู่สถานการณ์ระยะยาวที่ส่งผลกระทบต่อวิกฤตของสภาพภูมิอากาศ โดยขณะนี้ดูเหมือนว่าโลกกำลังเดินทางไปสู่ภาวะที่โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5°C อย่างถาวร

ทั้งนี้ “ข้อตกลงปารีส” ตั้งเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ “ต่ำกว่า 2°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม” และดำเนินการพยายามที่จะจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นให้ “อยู่ที่ 1.5°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม” แต่ตอนนี้เรากำลังใกล้ขีดจำกัดที่ตกลงกันในระดับสากลแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากโลกร้อนขึ้นเกิน 2°C อย่างถาวร ก็มีความเสี่ยงสูงที่สิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นได้

ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเรดดิง (University of Reading) Richard Allan ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ทั่วโลกต้องเร่งจัดการกับก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ก่อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลก จะสูงกว่า 2°C เป็นการถาวร สร้างผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจคาดเดาได้

จึงทำให้การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. นี้ ซึ่งเป็นเวทีให้ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลใช้หารือกัน เพื่อหาทางเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกในระยะยาวไม่เกิน 1.5°C ให้เป็นจริง จะมีแนวทางใดออกมาเพื่อจัดการกับก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกลดลง

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS https://www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : cnn, sciencealert, newscientist

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดสภาพอากาศปัญหาโลกร้อนโลกร้อนโลกเดือดThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
สุพัตรา ผาบมาลา
ผู้เขียน: สุพัตรา ผาบมาลา

นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาวิชา ภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ ผู้รักในการเขียนและการเล่าเรื่อง

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด