4 ปรากฎการณ์ที่น่าประทับใจจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี


Lifestyle

27 ต.ค. 66

THANATCHA SUVIBUY

Logo Thai PBS
4 ปรากฎการณ์ที่น่าประทับใจจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี

เรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์และกระแสฟีเวอร์ตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับละครไทยอิงประวัติศาสตร์ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผลงานกำกับโดย “ชาติชาย เกษนัส” ที่นอกจากจะได้รับคำชมบนโลกโซเชียล ติดเทรนด์แอปพลิเคชัน X (ทวิตเตอร์) ตลอดการออนแอร์แล้ว ยังกวาดรางวัลไปกว่า 10 รางวัล เพื่อต้อนรับรางวัลอันทรงเกียรติพร้อมการกลับคืนสู่จออีกครั้งของเจ้าพระยาสู่อิรวดี  ไทยพีบีเอส ขอพาไปสำรวจปรากฏการณที่น่าสนใจจากละครเรื่องนี้กัน

ละครแห่งปีที่กวาด 10 รางวัล จาก 5 เวที 

ละคร "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี" จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัลไปกว่า 10 รางวัลจาก 5 เวที ซึ่งนับว่าเป็นการการันตีถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพเผยแพร่สู่สังคม โดยรางวัลที่ได้รับทั้งหมด มีดังนี้

  • รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ 

2 รางวัล ด้านโทรทัศน์ : รางวัลละครยอดเยี่ยม, รางวัลบทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม โดยชาติชาย เกษนัส, พิมพ์ภณิดา พันธุ์ใหม่, จารุนันท์ พันธชาติ, วนิดา มงคลวิทย์, กานต์ชนิต พันธุ์ลี และ MAY MYO HAN (เม เมียว ฮัน)

3 รางวัล ด้านองค์ประกอบละครยอดเยี่ยม : รางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยม, รางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม โดยสิญาชนินทร์ รุ่งพัชรโรจน์, กัญญาลักษณ์ แก้วประดับ และศิรินทร์ สุวรรณพานิชย์ และรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม โดยธีรวัฒน์ รุจินธรรม

(ที่มา:ไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ด 2023)

  • รางวัลวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ รางวัล "พิฆเนศวร" ครั้งที่ 10 เป็นรางวัลอันทรงเกียรติจากสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รางวัลประทานจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
  • รางวัลละครโทรทัศน์ดีเด่น มหาวิทยาลัยรังสิต ฐานันดร 4 ทองคำ ประจำปี 2565 ในฐานะสื่อมวลชนน้ำดีที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นต้นแบบทางคุณธรรมและความดีงามตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ โดยนำเสนอเนื้อหา ข่าวสารที่มีความเที่ยงธรรม ถูกต้อง เป็นผู้ชี้นำทางความคิดให้แก่สังคม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้สื่อมวลชนรุ่นใหม่
  • รางวัลละครแห่งปีและทีมสร้างสรรค์แห่งปี ไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ด 2023 ด้วยเนื้อหาที่มีทั้งความบันเทิงและสาระ นำเสนอแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงประเด็นทางสังคมแห่งยุคปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน
  • รางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ดีเด่น โทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 37 ประจำปี 2565

ครั้งแรกของ เดาง์ (Daung) นักแสดงนำจากฝั่งเมียนมาในละครไทย

หากจะกล่าวถึงความสำเร็จของละครเรื่องเจ้าพระยาสู่อิรวดี คงไม่พูดถึงไม่ได้กับนักแสดงมากฝีมือจากฝั่งเมียนมา ไม่ว่าจะเป็น “เดาง์” ที่มารับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครสำคัญอย่าง “เมียวดี มินจี อูสะ” หรือ “สะสะ” ศิลปินเอกผู้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งการเข้าถึงบทบาทได้อย่างแนบสนิทของเดาง์ ได้สร้างความประทับให้กับผู้ชมมากมาย จนเป็นที่พูดถึงบนสื่อออนไลน์ทั้งในแฮชแท็ก แอปพลิเคชัน X (ทวิตเตอร์) และ TikTok อย่างล้นหลาม นอกจากนี้ยังจุดกระแส “เดาง์ฟีเวอร์” ในประเทศเมียนมาที่ทำให้หนังสืออิเหนาที่อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง โดยมียอดขายพุ่งสูงขึ้น 10 เท่า หลังจากละครออนแอร์

และที่โดดเด่นไม่แพ้กับนักแสดงนำ ต้องยกให้นักแสดงรองอีกหลายชีวิตที่ทำให้ละครเรื่องนี้สมบูรณ์ขึ้น เช่น  “นีน ตเว ยู ออง” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ โดยรับบทเป็นพระสนมมาลาและซินซิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่แฟนละครต่างออกปากชมว่าฝีมือการแสดงของเธอโดดเด่นไม่แพ้ตัวละครหลัก

จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี จึงเป็นละครอิงประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่เรื่องของไทย ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักแสดงไทยและนักแสดงเมียนมา ที่แม้ว่าจะสื่อสารกันคนละภาษาก็ไม่ใช่อุปสรรค กลับกันยังสามารถเข้าไปครองใจทั้งผู้ชมจากทั้งสองประเทศได้ไม่ยาก

บอกเล่าประวัติศาสตร์ด้วยม่านศิลปะและนาฏกรรม

ความสำเร็จของละครเรื่องจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ไม่ใช่แค่มอบความสนุกสนานเท่านั้น แต่เป็นการพาให้ผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ว่าแท้จริงแล้วเราต่างมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ผูกโยงเข้าด้วยกันมาอย่างยาวนาน มากกว่าการเป็นศัตรูกัน โดยเป็นการบอกเล่าในมิติของศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ที่งดงามตราตรึงใจ

ซึ่งในเรื่องเจ้าพระยาสูอิรวดีเป็นการรวบรวมศิลปะหลากหลายแขนงไว้ในเรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานกันระหว่างไทย-เมียนมา โดยเฉพาะฉากแสดงละครอิเหนา ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน ที่ออกแบบมาอย่างสวยงามจนกลายเป็นไวรัลบน TikTok  หรือ การแสดงรามเกียรติ์ ตอนนางสีดาลุยไฟ ในการรำชุดสุดท้ายของนางปิ่น ภายในเรื่องยังสอดแทรกเรื่องราวอื่น ๆ เช่น งานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดมหาเต็งดอจี หรือแม้แต่วัฒนธรรมอาหารของเมียนมาที่นำเสนอในเรื่องด้วย  

ทำให้เห็นว่ามากกว่าความสนุกที่ได้รับจากละครเรื่องนี้ คือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยอาจจะไม่เคยได้รู้ หรืออาจหลงลืมไป

ครั้งแรกของการถ่ายทำโดยใช้เทคนิคแบบภาพยนตร์ 

สิ่งที่สะดุดตาและทำงานกับผู้ชมตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง คืองานภาพที่งดงามราวกับได้รับชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ตั้งแต่มุมกล้อง การจัดแสงสี หรือการจับสีหน้าแววตาของนักแสดงที่ทำได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้กำกับภาพมือรางวัล อย่าง เปีย-ธีระวัฒน์ ที่ต้องการให้งานภาพให้อารมณ์เหมือนได้ดูภาพยนตร์ ด้วยการใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบ ซีเนมาติก (Cenematic)

ภายในเรื่องมีการใส่เทคนิคการถ่ายทำแบบซีนยาว (Long take) หรือการถ่ายแบบต่อเนื่อง เป็นเทคนิคที่ใช้ภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอเสียส่วนใหญ่ โดยการถ่ายทำซีนยาวจะไม่มีการสั่งคัต หากผิดพลาดเพียงจุดเดียว นั่นหมายถึงการเริ่มถ่ายใหม่ทั้งหมด นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายของทั้งนักแสดงและทีมงานอย่างยิ่ง

และเพื่อตอบรับเสียงเรียกร้องจากมหาชนและแทนคำขอบคุณทุกรางวัล ไทยพีบีเอส สามารถติดตามละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ครบทุกตอน พร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทย/ อังกฤษ/ เมียนมา ได้ทาง www.VIPA.me  ▶ รับชมได้ที่นี่ : https://watch.vipa.me/mMnKoVrJtDb VIPA ทุกความสุข... ดูฟรี ไม่มีโฆษณา
📱 Mobile Application: https://download.vipa.me
📺 App. สำหรับ Apple TV และ Android TV (ค้นหาคำว่า VIPA)
👉 LINE @VIPAdotMe: www.thaipbs.or.th/LINEVIPA

แหล่งข้อมูล : 

-https://www.thaipbs.or.th/news/content/332247 

-https://www2.rsu.ac.th/sarnrangsit-online-detail/Fourth-Estate-Gold-2565 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีละครไทยพีบีเอสละครไทยรางวัลละครแห่งปี
THANATCHA SUVIBUY
ผู้เขียน: THANATCHA SUVIBUY

นักเขียนผู้นับถือแมวเป็นศาสนา และมีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ