คืนพรุ่งนี้ (21 ต.ค. 66) มีนัด ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.30 น. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ต.ค. 66 Thai PBS Sci & Tech ชวนยลโฉม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ร่องรอยของ “ดาวหางฮัลเลย์” โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยหากฟ้าใสไร้ฝน ได้ลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศ ก่อนที่ดาวหางจะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604
สำหรับ “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” (Orionids) เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของ “ดาวหางฮัลเลย์” ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1P/Halley ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร โดยจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน ต.ค. ของทุกปี โดยในปี 2566 จะมีศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่ที่กลุ่มดาวนายพราน (Orion) และมีอัตราการตกประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง
จากข้อมูลการศึกษาทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบว่า “ดาวหางฮัลเลย์” มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 กิโลเมตร มีคาบการโคจรเฉลี่ย 76 ปี มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งแต่ละรอบจะมีคาบการโคจรไม่เท่ากัน เนื่องจากวงโคจรถูกรบกวนโดยแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ โดยธรรมชาติของดาวหางนั้น มีลักษณะเป็น “ก้อนน้ำแข็งสกปรก” ในอวกาศ มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโมเลกุลที่ระเหิดได้ง่าย เช่น น้ำ มีเทน แอมโมเนีย และคาร์บอนไดออกไซด์ ปะปนอยู่กับเศษหินและฝุ่น ทุก ๆ ครั้งที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางจะได้ปริมาณรังสีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โมเลกุลของสสารเหล่านี้จะระเหิดเป็นแก๊สที่ฟุ้งกระจายไปในอวกาศ มีทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดเป็นหางของดาวหางที่สวยงามขึ้นมานั่นเอง
ทั้งนี้ “ดาวหางฮัลเลย์” จะโคจรมาอวดโฉมในทุก ๆ 76 ปี ซึ่งแต่ทุกครั้งที่เคลื่อนที่เข้ามา รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปเรื่อย ๆ และมีขนาดเล็กลง 1-3 เมตรในแต่ละรอบ จนในที่สุดเมื่อมวลสารส่วนที่เป็นน้ำแข็งสลายตัวจนหมดไป “ดาวหางฮัลเลย์” ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เคยเห็นในอดีต จะกลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบ ๆ ดวงอาทิตย์ต่อไปเพียงเท่านั้น
📖อ่านเรื่องราว “ฮัลเลย์” การเดินทางของดาวหาง และความรัก
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ