เทศกาลกินเจ คือ การถือศีล ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม มาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า "เจี่ยฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด โดยจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ปีนี้ตรงกับ 15 - 23 ต.ค. 66 ตลอด 9 วันนี้มีข้อห้าม-ข้อปฏิบัติที่คนกินเจควรปฏิบัติให้ถูกต้อง ดังนี้
- งดอาหาร เครื่องดื่มที่มาจากสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ เครื่องใน นม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนย ชีส รวมถึงเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซอสหอยนางรม
- งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด เพราะมีผลกระตุ้นอารมณ์ และทำลายพลังธาตุทั้งห้าในร่างกาย
กระเทียม ทำลายธาตุไฟ ทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ
หลักเกียว (กระเทียมโทน) ทำลายธาตุดิน ทำให้ม้ามทำงานไม่ปกติ
หอมทุกชนิด (ต้นหอม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ผักชี) ทำลายธาตุน้ำ ทำให้ไตทำงานไม่ปกติ
กุยช่าย ทำลายธาตุไม้ ทำให้ตับทำงานไม่ปกติ
ใบยาสูบ ทำลายธาตุโลหะ ทำให้ปอดทำงานไม่ปกติ - ทำบุญ รักษาศีลห้า และรักษาพรหมจรรย์
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมา
- ควรแยกอุปกรณ์ทำครัว จานชาม ช้อนส้อม ไม่ให้ปะปนกับอาหารที่ใส่เนื้อสัตว์
- คนกินเจ สายเคร่งครัด จะมีการ "ล้างท้อง" ก่อนเริ่มกินเจในวันแรก เพื่อชำระล้างเนื้อสัตว์ที่ตกค้างในร่างกาย และเป็นการปรับร่างกายให้พร้อมรับอาหารแบบไม่มีเนื้อสัตว์
- นุ่งห่มด้วยเครื่องแต่งกายสีขาว
- กินอาหารเจจาก "คนที่กินเจ" ด้วยกัน เป็นคนปรุง
เปิดความหมาย "ธงเจ" ทำไมต้องเป็นสีเหลือง
ธงเจ เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เทศกาลกินเจ โดย สีเหลือง หมายถึง สีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล สีแดง หมายถึง ความโชคดี ความสุข ตัวอักษรสีแดงตรงกลางธง อักษร 齋 อ่านว่า ไจ หรือ เจ รวมหมายถึง การไม่มีของคาว
"กินเจ" หิวง่าย ทำไงดี ?
- ควรกินอาหารที่มีโปรตีนเด่น เช่น เต้าหู้ ถั่วลิสง อย่างน้อย 1 อย่างต่อมื้อ
- หมั่นจิบน้ำเปล่าระหว่างวันเพิ่มมากขึ้น
- กินผลไม้สด ประมาณ 1 กำปั้น กับน้ำเปล่า ในระหว่างวัน
- เลือกกินนมถั่วเหลือง แบบหวานน้อยและเสริมแคลเซียม เป็นของว่าง
นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังได้แนะนำ 3 กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่คนกินเจก็กินได้ กินเจแล้วได้สุขภาพดี เพราะกินง่าย ช่วยให้อยู่ท้อง เพิ่มการเผาผลาญ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จากอาหารไม่ย่อย และช่วยป้องกันความดัน เบาหวานสูงได้อีกด้วย