ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตั้งข้อสังเกต ส่งผู้ป่วยช้าทำเสียโอกาสในการรักษาหรือไม่ ?

สังคม
4 ม.ค. 68
20:31
232
Logo Thai PBS
ตั้งข้อสังเกต ส่งผู้ป่วยช้าทำเสียโอกาสในการรักษาหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การนำผู้ป่วยโรคหัวใจส่ง รพ.ล่าช้าไปกว่า 2 ชม.ของมูลนิธิกู้ภัยเพชรเกษม อาจหมายถึง 2 ชม.ที่ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา ตามมาด้วยคำถามอีกมากมายโดยเฉพาะกระบวนการรับแจ้งเหตุของมูลนิธิฯ รับเคสได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรถบริการฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.

กรณีผู้ป่วยชายอายุ 56 ปี ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ญาติโทรแจ้ง 1669 ซึ่งศูนย์รับแจ้งเหตุซักประวัติและประเมินอาการแล้วว่าต้องใช้รถพยาบาลขั้นสูง และบอกญาติว่ารถจาก รพ.ราชวิถี กำลังจะเข้าไปรับ

แต่อาสาสมัครชุดแดง ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นอาสาฯ ของมูลนิธิกู้ภัยเพชรเกษม มารับผู้ป่วยที่คอนโดมิเนียม ซึ่งญาติบอกให้อาสาฯ นำส่ง รพ.พระราม 9 แต่อาสาฯ นำส่ง รพ.คามิลเลียน ย่านทองหล่อ เมื่อไปถึง รพ.คามิลเลียน แจ้งว่ารักษาอาการนี้ไม่ได้เพราะเกินขีดความสามารถ จึงต้องพามาที่ รพ.ราชวิถี ใช้เวลาเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 2 ชั่วโมง

กรณีนี้ ผู้ป่วยอยู่คอนโดฯ ย่านพระราม 9 ซึ่งญาติบอกให้อาสาฯ ไปส่งที่ รพ.พระราม9 เพราะใกล้ที่สุด ห่างออกไป 1.8 กิโลเมตรและต้องการใช้สิทธิ UCEP แต่อาสาฯ พาไปส่งที่ รพ.คามิลเลียน ย่านทองหล่อ ซึ่งห่างจากคอนโดฯ ถึง 5.4 กิโลเมตร และสุดท้ายต้องพาไปส่งโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่ รพ.ราชวิถี ทั้งที่ รพ.ราชวิถี อยู่ห่างจากคอนโดฯ 3.7 กิโลเมตร

นำไปสู่การตั้งคำถามว่า เหตุใดอาสาฯ จึงนำผู้ป่วยไปส่ง รพ.ที่ไกลที่สุดในบรรดาตัวเลือกที่มี เพราะทั้ง รพ.พระราม 9 ที่ญาติต้องการไปและ รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็น รพ.ตามสิทธิ ใกล้กว่า รพ.ที่อาสาฯ พาไปส่ง

อ่านข่าว : ร้องเรียน "กู้ภัยชุดแดง" ส่งผู้ป่วยโรคหัวใจผิด รพ. อ้างรถติด

กรุงเทพมหานครทำ "บันทึกความร่วมมือ" กับหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน รวม 9 ฝ่าย โดยสรุปคือ การนำส่งผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.ไปยังสถานพยาบาล จะมีศูนย์เอราวัณเป็นผู้สั่งการ และในเอกสารฉบับนี้ไม่มีมูลนิธิกู้ภัยเพชรเกษม

ผู้เสียหายจึงตั้งข้อเกตว่า อาสาฯ ของมูลนิธิกู้ภัยเพชรเกษมรู้ได้อย่างไรว่ามีผู้ป่วยเคสนี้ จนมาถึงก่อนรถพยาบาลของ รพ.ราชวิถี และเหตุใดจึงยืนยันจะพาไปส่งที่ รพ.คามิลเลียน และทำไมไม่ทำตามระบบการแพทย์ฉุกเฉินของ กทม.

"อาสากู้ภัย" ชี้มีหลักพิจารณาเลือก รพ.ไม่ล้าช้า

ประเด็นนี้ อาสากู้ภัย ระบุว่า จากการตรวจอาการและสอบสวนโรค พบว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดัน มีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปแล้ว ระหว่างนั้นเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างห้องเข้ามาโวยวายเป็นระยะ บอกว่าผู้ป่วยเป็นสโตรกให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พวกตนจึงบอกให้ตั้งสติ เพราะต้องตรวจผู้ป่วยก่อนเคลื่อนย้าย

ส่วนเรื่องการเลือกโรงพยาบาล ยืนยันว่า ทางกู้ภัยมีหลักพิจารณาเลือกโรงพยาบาล พร้อมย้ำว่าผู้ป่วยอยู่กับกู้ภัยเพียง 15 นาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่พบว่า ญาติและกู้ภัยพูดไม่ตรงกันคือประเด็นเรื่องสภาพการจราจร และเพื่อนบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ยังตั้งคำถามว่า มูลนิธิดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แต่ทราบข้อมูลได้อย่างไรว่ามีเคสนี้ขอความช่วยเหลือ ซึ่งประเด็นนี้หน่วยกู้ภัยเพชรเกษม อ้างว่าได้รับข้อมูลทางไลน์กลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลเป็นปกติอยู่แล้ว

สำหรับข้อมูลที่กู้ภัยอ้างว่าได้รับจากไลน์กลุ่มที่ได้จากกู้ภัย มีข้อมูลจากอดีตเจ้าหน้าที่ สพฉ. อธิบายว่า ปกติเมื่อ สพฉ. หรือ 1669 ได้รับข้อมูลผู้ป่วยมา จะมีระบบสารสนเทศส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยในพื้นที่

อย่างกรณี กทม.จะส่งข้อมูลให้กับศูนย์เอราวัณ โดยจะสั่งการในระบบให้กับผู้ที่มี Username และ Password ซึ่งจะประเมินว่าหน่วยไหนใกล้ที่สุดและส่งข้อมูลผู้ป่วยไปให้หน่วยกู้ภัยฯ ซึ่งจะเป็นการส่งข้อมูลที่เร็วที่สุด ผู้ที่มี Username และ Password จะรับทราบข้อมูลเฉพาะในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบและต้องเป็นหน่วยที่ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ.

จึงต้้งข้อสังเกตว่า อาจมีผู้ที่มี Username และ Password ที่เห็นข้อมูลทั้งหมด ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยไปยังกรุ๊ปไลน์อาสากู้ภัย หน่วยงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจึงรับทราบข้อมูลนี้ ซึ่งถือว่า ไม่ใช่การทำงานตามระบบที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ป่วย ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว แต่ต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเพราะมีอาการหัวใจเต้นช้า ภรรยาผู้ป่วยจึงฝากเป็นอุทาหรณ์ให้กับกู้ภัยและทุกหน่วยงาน โดยอยากคำนึงถึงความปลอดภัยในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นหลัก

สพฉ.เตรียมเชิญอาสากู้ภัยส่งผู้ป่วยผิด รพ.ให้ข้อมูล

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. เปิดเผยว่า วันที่ 6 ม.ค.นี้ จะเชิญอาสากู้ภัยดังกล่าว พร้อมด้วยญาติผู้ป่วยมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจากการตรวจสอบมูลนิธิดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ. ทำให้การช่วยเหลืออาจไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายและไม่มีมาตรฐานการดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งโทษจะต้องสอบสวนอีกครั้งว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของหน่วยงานใดบ้าง

ส่วนที่เกี่ยวกับ สพฉ. มีมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินที่กำหนดไว้ มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จึงจำเป็นต้องสอบสวนพฤติการณ์ว่าสร้างความเสียหายกับผู้ป่วยเพียงใด โทษมี 2 ส่วนคือ กับผู้ปฏิบัติ และหน่วยงานที่กำกับดูแล

ส่วนการเข้าถึงข้อมูลการแจ้งของผู้ป่วยของมูลนิธิที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ. จำเป็นต้องสอบสวนอีกครั้ง เนื่องจากหน่วยงานที่รับแจ้งใน กทม. เป็นหน้าที่ของศูนย์เอราวัณของ กทม. เบื้องต้นคาดว่ามีการเข้าฟังจากสัญญาณคลื่นวิทยุ ซึ่งจะต้องตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าจะเร่งสืบสวนข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

3 ประเภทรถพยาบาลฉุกเฉินของไทย

สำหรับการบริการรถพยาบาลฉุกเฉินของไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก คือ รถอาสาฯ หรือ FR (First Responder) รถกู้ภัยทั่วๆ ไป อาสาที่ปฏิบัติงานจะต้องผ่านการอบรม ตั้งแต่ระดับ First Responder หรือผู้ตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินระดับแรกขึ้นไป มีขีดความสามารถในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บไม่วิกฤต หรือ สีเขียว

ประเภทที่ 2 คือ รถพยาบาล BLS (Basic Life Support) มีอุปกรณ์พยาบาลมากกว่ารถอาสาฯ อาจเป็นรถกระบะดัดแปลงเพื่อความสะดวกในการเข้าพื้นที่กันดาร หรือรถตู้สำหรับวิ่งในเมือง โดยได้รับการรองรับจากสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลาง หรือ สีเหลือง

ส่วนรถพยาบาล ALS (Advance Life Support) มาพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ครบครันมากที่สุด มีบุคลากรกู้ชีพ นักปฏิบัติการฉุกเฉิน พยาบาลและแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพื่อออกช่วยเหลือผู้ป่วยผู้บาดเจ็บที่วิกฤตหนัก หรือกำลังยื้อชีวิต หรือผู้ป่วยสีแดง เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตและสัญญาณชีพไม่ปกติ เป็นต้น

อ่านข่าว

ตร.ไซเบอร์ค้น 3 จุด ยึดรถหรู 136 คน โยงเครือข่ายเว็บพนัน

ร้อง กกต.สอบ "ยลดา" ผู้สมัครนายก อบจ.โคราช โอนงบ 23 ล้านมิชอบ

เมียนมาปล่อยนักโทษ 5,864 คน วันประกาศอิสรภาพ มีคนไทย 151 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง