หลายคนอาจจะชอบ-ตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ดำน้ำดูสัตว์หายาก อย่างเช่น “ฉลามวาฬ” (Whale Shark) แต่สัตว์เหล่านั้นอาจไม่คิดเหมือนเรา เมื่อมีงานวิจัยล่าสุดเผยว่า การที่มนุษย์อยู่ใกล้ ๆ “ฉลามวาฬ” จะเครียดมีอาการประหนึ่งถูกนักล่าจ้องอยู่ ซึ่งส่งผลต่อการหาอาหาร-สืบพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรม “ฉลามวาฬ” ที่เปลี่ยนไป
บทความทางวิทยาศาสตร์ โดย Joel Gayford และเพื่อนได้ร่วมกันทำวิจัย จากการวิเคราะห์วิดีโอที่ถ่ายจากด้านบนของฉลามวาฬในประเทศเม็กซิโก จำนวน 39 คลิป โดย 20 คลิปมนุษย์ว่ายน้ำใกล้กับฉลามวาฬ (เลียนแบบพฤติกรรมนักท่องเที่ยว) ขณะที่อีก 19 คลิปปล่อยให้ “ฉลามวาฬ” ว่ายอยู่ลำพัง พบว่า คลิปที่คนเข้าใกล้ “Whale Shark” จะมีพฤติกรรมเคลื่อนไหวซิกแซกอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่ “ฉลามวาฬ” จะทำเช่นนี้ก็ต่อเมื่อมีนักล่าปรากฏตัว เพื่อป้องกันภัยเนื่องจากมีความเครียดว่าจะเกิดอันตรายกับตัวมันเอง
ส่งผลให้ต้องใช้พลังงานมากกว่าเดิม ต้องกินอาหารเยอะกว่าเดิมเพื่อรักษาระดับพลังงาน ซึ่งหากพลังงานต่ำกว่าปกติอาจส่งผลไปถึงการสืบพันธุ์ได้ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นว่ากิจกรรมมนุษย์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของ “ฉลามวาฬ” อย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ทางรายงานการวิจัย จึงอยากให้ทบทวนระยะห่างของมนุษย์เมื่อต้องเข้าใกล้ “ฉลามวาฬ” เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสัตว์
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : phys