“งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566” ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อวันที่ 17-20 สิงหาคม 2566 มีโซน Spectrum of Reaction AI : "ศาสตร์ ศิลป์ สร้าง สรรค์" ที่ได้นำเสนอกิจกรรมผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ รวมทั้งจัดกิจกรรม Workshop เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งาน AI ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการสนับสนุนงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยภายในงานจะให้ทดลองใช้เครื่องมือ AI สร้างสรรค์งาน 7 ลักษณะ ดังนี้
1. Midjourney : AI แปลงข้อความเป็นภาพ
AI สร้างสรรค์ภาพประกอบผ่านคำสั่ง เหมือนกับการแปลงข้อความเป็นภาพ (Text to ImageX) โดยใช้ Bot ที่ทำงานอยู่บน Community อย่าง Discord เพื่อเป็นตัวกลางในการป้อนคำสั่ง /imagine prompt และตามด้วยข้อความ ที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญที่ต้องการ สามารถระบุได้ว่า โทนสีเป็นอย่างไร องค์ประกอบภาพอื่น ๆ รายละเอียดภาพต้องการภาพแบบ 3 มิติ อนิเมะ การ์ตูน Sci-Fi เมื่อป้อนคำสั่งเสร็จสิ้นแล้ว AI จะ Generate ภาพออกมา 4 ภาพ ให้เราเลือกในแบบที่เราชอบ โดยสามารถ Download หรือ ปริ้นท์เพื่อนำไปใช้แบบไม่ใช่เชิงพาณิชย์ได้
2. Scribble Diffusion : AI แปลงภาพวาดลายเส้นเป็นภาพสวยระดับเทพ
AI ที่จะเปลี่ยนภาพวาดลายเส้นให้เป็นภาพสวยระดับเทพ ซึ่งจะมาช่วยให้คนที่มีไอเดียแต่วาดรูปไม่เก่งก็สามารถสร้างภาพวาดสวย ๆ ได้ ผ่านเว็บไซต์ www.scribblediffusion.com สามารถวาดผ่าน PC, แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์ก็ได้ เมื่อวาดเสร็จแล้วให้บรรยายภาพเล็กน้อย ว่าอยากให้เป็นภาพแนวไหน จากนั้นก็คลิก GO เลย AI จะ Generate ภาพออกมา
3. Artguru.AI : อัปโหลดรูปวาดให้เป็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้น
หมดปัญหาสำหรับคนที่ไม่ถนัดวาดรูปผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ เพราะ AI นี้จะช่วยคุณได้ โดยเข้าไปที่ www.artguru.ai เราสามารถ "อัปโหลดรูป" ที่เราวาดออกมา จากนั้นเลือกสไตล์ภาพที่อยากได้ และสามารถใส่คีย์เวิร์ด Prompt เพื่อให้ภาพเกิดความสมบูรณ์ได้
4. D-ID : สร้างคลิป Avatar พูดได้ด้วย AI
AI สุดล้ำสำหรับสายคอนเทนต์ ที่อยากอ่านข่าว สปอยล์หนัง หรือทำคลิปวิดีโอ โดยใช้ใบหน้าตัวเองหรือใครก็ได้ซ้อนกับเสียง AI ได้หลากหลายภาษา ผ่านเว็บไซต์ www.d-id.com/ เลือก Presenter ใบหน้าบุคคลที่ต้องการหรือจะอัปโหลดใบหน้าใครลงไปแทนก็ได้ หรือจะเลือกจากโมเดลที่ทางเว็บมีไว้ให้ และระบุลักษณะที่ต้องการคร่าว ๆ จากนั้นให้เขียนสคริปต์ที่ต้องการให้พูด โดยมีหลากหลายภาษาให้เลือกใช้ แต่ละภาษาก็มีให้เลือกหลายโทนเสียงทั้งชายหรือหญิง เมื่อเสร็จสิ้นให้ Generate คลิป โดยระบบจะคำนวณเครดิต ที่ต้องใช้กับแต่ละคลิป ขึ้นอยู่กับภาพ Presenter และระยะเวลาของคลิป ซึ่งการจะมีเครดิตได้ต้องจ่ายเงินซื้อ
5. TOME : AI สร้าง Presentation
การทำสไลด์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อมี AI ช่วยสร้างสรรค์ Presentation นำเสนองานให้งานมีคุณภาพกว่าที่เคยเป็น ผ่านเว็บไซต์ https://tome.app/ ซึ่งสามารถทำสไลด์หรือ Presentation ออกมาได้ตามการอธิบายของเรา โดยป้อนคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการทำใน Presentation จากนั้น AI จะ Generate ออกมาให้ ผู้ใช้สามารถปรับแต่งข้อความ หรือ Layout ของ Presentation ได้อย่างอิสระเหมือนกับการทำ Presentation ผ่าน PowerPoint และที่สำคัญคือ รองรับภาษาไทยด้วย
6. ChatGPT : Chat Bot AI ถามอะไรตอบได้
ณ วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก AI Chat Bot สุดโด่งดัง กระแสแรงเพราะเปิดตัวแค่ 2 เดือนคนใช้งาน 100 ล้านบัญชี ChatGPT จะช่วยให้เราค้นหาคำตอบในทุกคำถามได้ โดยการสนทนาด้วยความเป็นธรรมชาติไม่เหมือนคุยกับ Bot รองรับภาษาไทยด้วย
7. Loopsie : แต่งรูปสไตล์การ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่น
AI ทำภาพอนิเมะ (Anime) ที่กำลังฮิตอยู่ในเวลานี้ การทำงานของ AI นี้จะใช้งานอาร์ตของหลากหลายศิลปินที่เชี่ยวชาญการวาดภาพใบหน้าบุคคล ภาพวิว ทิวทัศน์ สถานที่ และอื่น ๆ มาทำให้ AI เกิดการเรียนรู้ เมื่อผู้ใช้อัปโหลดภาพที่ต้องการลงไปในแอปพลิเคชัน AI จะ Generate ภาพนั้นให้ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาพ 3 มิติ ภาพการ์ตูนแบบ 3D Art และภาพอนิเมะแบบการ์ตูนญี่ปุ่น
แต่ก็มีข้อกังวลที่ว่า แอปพลิเคชันดังกล่าว ได้ใช้ Stable diffusion ซึ่งเป็นโมเดล AI ที่เรียนรู้จากฐานข้อมูล LAION เป็นองค์กรในเยอรมนี ซึ่งสร้างแบบจำลองและชุดข้อมูลปัญญาประดิษฐ์แบบ Open Source ที่เต็มไปด้วยรูปที่ได้มาโดยไม่ได้รับการยินยอมจากศิลปิน
และนี่ก็คือ 7 AI ที่น่าสนใจในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ที่หอศิลป์ กรุงเทพ ในธีม Spectrum of Reaction AI : "ศาสตร์ ศิลป์ สร้าง สรรค์" ใครที่สนใจสามารถทดลองใช้กันได้ ซึ่งมีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน
อ่านข่าวเกี่ยวกับ “มหกรรมวันวิทยาศาสตร์ฯ” เพิ่มเติม
• บรรยากาศงานมหกรรมวิทย์ 66 ที่หอศิลป์กรุงเทพ ธีม Spectrum of Science (อัศจรรย์สีสันวิทย์)
• “วันวิทย์” เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมหลากหลาย ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
• รู้จัก “เมือกหอยทาก” พลังแห่งการฟื้นฟูผิวอันน่าอัศจรรย์
• อินฟราเรด รังสีความร้อน ช่วยให้ดาราศาสตร์ เข้าใจอวกาศมากขึ้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของ #ThaiPBS ได้ที่ www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech
--------------------------
🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech