11 ม.ค. 2568 ก็เป็นอีกวันหนึ่งเด็กไทยจะได้ออกจากบ้านกับครอบครัวเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ นอกจากความสนุกสนานและการได้เจอกับเพื่อนใหม่แล้ว เด็ก ๆ ก็จะได้สั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ภาครัฐและเอกชนตั้งใจจัดขึ้นเพื่ออนาคตของชาติ
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์เด็กทั้งในไทยและทั่วโลกนั้นยากลำบากและอันตรายโดยเฉพาะจากความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งระหว่างประเทศ วันเด็กปีนี้ Thai PBS Now จึงขอเชิญทุกคนมาสำรวจวิกฤตการณ์เด็กในปีที่ผ่านมาในบทความวิเคราะห์ชิ้นนี้
ความยากจนและสภาพอากาศกระทบคุณภาพชีวิตเด็กไทยโดยตรง
ในประเทศไทย ความยากจนยังเป็นปัญหาสำคัญต่อการเติบโตของเด็กและเยาวชน จากรายงานพิเศษของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 เด็กไทย 1.02 ล้านคนได้หลุดออกจากระบบการศึกษา และสาเหตุอันดับ 1 นั้นมาจากความยากจน คิดเป็นร้อยละ 46.70 อีกทั้งจังหวัดที่มีเด็กและเยาวชนช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3) หลุดจากระบบการศึกษาสูงสุดคือกรุงเทพมหานคร สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเมืองใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดช่องว่างต่อไป
ขณะเดียวกัน ภาวะโลกรวนก็สร้างผลกระทบต่อสุขภาพเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ รายงานการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เมื่อ 2 ปีก่อนนั้นระบุว่าเด็กไทยกำลัง “เผชิญความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีษะเกษ นครศรีธรรมราช นาราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี คือพื้นที่ความเสี่ยงสูงต่อเด็กจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับปานกลาง (RCP4.5)
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติมหาราชินียังเตือนว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งระบบหายใจ รวมถึงสติปัญญาและพัฒนาการของเด็กหากได้รับเป็นระยะเวลานาน และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดซึ่งคร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ยปีละ 40 คน
2024 คือ “ปีที่เลวร้ายที่สุดปีหนึ่งต่อเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง”
มลพิษทางอากาศยังสร้างความกังวลต่อประชาคมโลก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเสียชีวิตรองจากภาวะขาดสารอาหาร รายงานของ Health Effects Institute ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 709,000 คนเสียชีวิตจากมลพิศทางอากาศ มลพิษทางอากาศส่งผลให้อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของเด็กที่กำลังเติบโตในแอฟริกาและเอเชียใต้ลดลง 24 และ 30 เดือนตามลำดับ คิตตี แวน เดอร์ ไฮจ์เดน (Kitty van der Heijden) รองผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟกล่าวกับ The Guardian ว่า “การอยู่นิ่งเฉยของเรา [ต่อปัญหานี้] กำลังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวและสุขภาวะของคนรุ่นถัดไป”
ทั้งนี้ แคเธอรีน รัสเซลล์ (Catherine Russell) ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟได้ให้ความเห็นว่า ปี ค.ศ. 2024 ถือเป็น “ปีที่เลวร้ายที่สุดปีหนึ่งต่อเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง” บนหน้าประวัติศาสตร์ขององค์การฯ เนื่องจากเกิดความขัดแย้งทั่วโลกบ่อยครั้งที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ขณะนี้เด็กกว่า 473 ล้านคน – ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรเด็กทั่วโลก – กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง และกว่า 47.2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น พื้นที่ดังกล่าวสร้างความสูญเสีย ความอดอยาก และความรุนแรงทางเพศต่อชีวิตเด็ก รวมถึงตัดโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอีกด้วย
เด็กในฉนวนกาซา (Gaza Strip) กว่า 17,400 คนเสียชีวิตนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้มีเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันกว่า 2,300 คน และคาดว่าตัวเลขความสูญเสียจริงอาจสูงกว่านี้ ส่วนในพม่านั้น เด็กกว่า 6 ล้านเผชิญกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงอันเป็นผลจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ นอกจากนี้ จำนวนของเด็กในเฮติที่ตกอยู่ในเหตุความรุนแรงทางเพศเพิ่มขึ้น 1,000 เปอร์เซ็นต์หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองและกลุ่มอาชญากรครองเมืองเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
แนวทางที่ยัง “คลุมเครือ” ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์เด็ก
กระแสโลกาวิวัฒน์และการเข้าถึงข้อมูลในชั่วพริบตา ทำให้ทุกคนสามารถติดตามและเกิดความตระหนักรู้ต่อสิทธิเด็กง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นวันเด็กของไทยปีนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของไทยสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมฯ ที่ช่วยปลูกฝังประเด็นด้านสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองและสิทธิที่จะมีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม ยังคงเห็นแนวทางไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเด็กอย่างไรบ้าง
ระหว่างการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาที่เด็กไทยนับล้านคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และแถลงต่อรัฐสภาว่า “รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม” และ “ลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” รวมถึง “จะสร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหา PM 2.5” แต่ภาคประชาสังคมได้แสดงความเห็นว่า นโยบายของคณะรัฐมนตรีนั้นยังไม่ชัดเจนและตกหล่นสวัสดิการเกี่ยวกับเด็กหลายประการ
ส่วนประเด็นเด็กในระดับโลกนั้น เวอร์จิเนีย แกมบา (Virginia Gamba) ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อเด็กและความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ (Special Representative of the Secretary-General for Children and Armed Conflict) แถลงว่า ปี ค.ศ. 2025 ต้องเป็นปีที่สิทธิเด็กได้รับการปกป้องแม้ในสถาการณ์ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ “จงฟังลูกหลานของพวกเขาเถิด” แกมบากล่าว “ความปรารถนาของพวกเขานั้นเรียบง่าย พวกเขาต้องการสันติ การศึกษา และโอกาสที่จะเยียวยา เติบโต และมีความหวัง”
ขณะที่แอกเนส คาลามาร์ด (Agnès Callamard) เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ยกตัวอย่างถึงความล้มเหลวของประชาคมโลกในการปกป้องชีวิตของพลเมืองและเด็กนับพันในฉนวนกาซา ความล้มเหลวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์อีกต่อไป อีกทั้งประเทศผู้นำโลก “ต่างทอดทิ้งคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์และความเป็นสากลที่ได้รับการรับรองบนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)”
แม้ผู้ที่มีอำนาจแก้ไขปัญหานั้นจะเป็นรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศ แต่พลเมืองทั่วโลกก็สามารถร่วมผลักดันวาระต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็กทั้งในระดับท้องถิ่นและสากลผ่านกลไกต่าง ๆ ได้ และยังคงต้องจับตาดูกันในปีนี้ว่า ผู้นำโลกจะมีท่าทีต่อวิกฤตการณ์เกี่ยวกับเด็กอย่างไรต่อไป
อ้างอิง