เรือกลไฟที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเทียมและพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ช่วยให้เรือเล่นได้ไกลขึ้นอีก 25%
David Florian หรือที่รู้จักในนาม Dr.D-Flo นักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สำหรับสร้างเรือไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รองรับผู้โดยสารได้ 2 คน ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เรือดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยส่งเสริมการเดินทางในพื้นที่จำเป็นต้องเดินทางทางน้ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวอย่างการประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ความก้าวหน้าดังกล่าวเน้นการใช้งานจริงในชุมชนริมน้ำหรือพื้นที่ที่การเดินทางทางบกเป็นเรื่องท้าทาย
เรือกลไฟที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นเรือ DIY ที่ผู้ที่สนใจสามารถผลิตได้เอง วัสดุที่ใช้คือ PETG (Polyethylene terephthalate Glycol-modified) ที่มีความยืดหยุ่นและทนน้ำได้ดีกว่าพลาสติกทั่วไป จึงเหมาะกับการเดินเรือทางทะเลมากกว่า และไม่ปล่อยควันพิษระหว่างการพิมพ์ อีกทั้งยังมีการอัดขึ้นรูปอะลูมิเนียมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างห้องโดยสาร เนื่องจากต้องมีน้ำหนักเบาและแข็งแรง โดยต้องไม่ทำให้จุดศูนย์กลางของเรือสูงขึ้นซึ่งอาจทำให้เรือไม่มั่นคง และต้องทำให้เรือสามารถทนต่อลมได้ จึงต้องมีการอัดขึ้นรูปอะลูมิเนียมเข้ามาช่วย
ภายนอกเรือมีการเพิ่มแผ่นพลาสติกเพื่อให้ดูเหมือนเรือมิกกี้เมาส์ และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อให้เกิดแหล่งพลังงาน ช่วยรักษาระยะการทำงานเพื่อให้เรือสามารถแล่นบนน้ำได้เป็นเวลานาน สำหรับการขับเคลื่อนผู้ผลิตเลือกใช้มอเตอร์ลากไฟฟ้าแทนน้ำมันเพราะมีราคาถูกกว่าและต้องการการบำรุงรักษาที่น้อยกว่า แต่เนื่องจากแรงดันไฟฟ้า 12 โวลต์ค่อนข้างต่ำสำหรับการขับเคลื่อนเรือกลไฟที่พิมพ์ 3 มิติ ทีมออกแบบจึงเพิ่มแบตเตอรี่ลิเทียมที่ติดตั้งไว้ใต้เบาะนั่งของกัปตันเพื่อให้มีกำลังเพิ่มขึ้น
ภายในเรือมีพวงมาลัยเหล็กที่เชื่อมต่อกับไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งไมโครคอนโทรลเลอร์จะแปลงการเคลื่อนที่ของพวงมาลัยเป็นการหมุนของมอเตอร์เพื่อควบคุมเรือ ทีมออกแบบยังติดตั้งไฟนำทาง แตร บังโคลน ที่ยึดเพื่อผูกเรือกับท่าเทียบเรือ และเพิ่มสมอพร้อมรอกไฟฟ้าเพื่อให้ใช้งานและดึงออกได้ง่าย เรือกลไฟลำนี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2 คน รวมกัปตัน ส่วนท้ายเรือจะถูกใช้เป็นส่วนเก็บของ
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: designboom, autoevolution, drdflo
ที่มาภาพ: drdflo
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech