ทำความรู้จัก และเปิดเบื้องหลังงานประกาศรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG”


บทความพิเศษ

16 มิ.ย. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

ทำความรู้จัก และเปิดเบื้องหลังงานประกาศรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/191

ทำความรู้จัก และเปิดเบื้องหลังงานประกาศรางวัล  “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดงานประกาศรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน Web Content Accessibility Guidelines (WCAG)” โดยไทยพีบีเอส เป็น 1 ใน 121 หน่วยงานรัฐที่เข้าร่วมประกวด และผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 50 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลพิเศษในครั้งนี้

แต่เหนืออื่นใด คือการสร้างความตระหนักรู้ และการสร้างแรงจูงใจ ให้หน่วยงานรัฐ ตลอดจนหน่วยงานเอกชนทั่วไป ได้หันมาใส่ใจการพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อให้เกิดการ “เข้าถึง” คนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง 

ไทยพีบีเอสชวนทำความเข้าใจ “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” ตลอดจนย้อนเบื้องหลังที่มางานประกาศรางวัลสำคัญครั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจร่วมกัน

“เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” คืออะไร ?

เพราะโลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ จากทั่วโลกได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีอวัยวะครบ 32 และมีประสาทสัมผัสทำงานปกติ การท่องเว็บไซต์เพื่อเข้าหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข่าว บทความ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ หรือภาพอินโฟกราฟิก สามารถคลิกดูได้ทันที 

แต่สำหรับบุคคลบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน สายตาเลือนลาง ผู้สูงอายุ ฯลฯ การท่องอินเทอร์เน็ตในโลกออนไลน์ทำได้ยากกว่าคนปกติ ดังนั้น จึงเป็นที่มาในการออกแบบเว็บไซต์สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และคนพิการในทุกประเภท หรือที่เรียกว่า เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) 

หลักการสำคัญของเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือ ผู้สร้างเว็บไซต์จำเป็นต้องออกแบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถเข้าถึงข้อมูล เข้าใจเนื้อหา รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นสามารถโต้ตอบ พูดคุยบนเว็บไซต์ได้เหมือนกับคนปกติ หรืออย่างน้อยจะต้องได้องค์ความรู้ที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด

หลักเกณฑ์ของ “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” มีอะไรบ้าง ?

‘ตัวหนังสือเล็กมาก อ่านไม่ชัด’ ‘ไม่เห็นมีปุ่มกด’ ‘ใช้สีไม่ต่างกันเลย ผมตาบอดสี แยกข้อมูลไม่ได้’ ‘ไม่มีคำธอธิบายข่องกรอกข้อมูล ไม่รู้จะให้พิมพ์อะไร’ ‘ภาพข่าวไม่มีภาษามือ ดูไม่รู้เรื่อง’ 

ประโยคข้างต้นเหล่านี้ คือการสะท้อนปัญหาของผู้ใช้เว็บไซต์ จนนำมาซึ่งการออกแบบเว็บไซต์ให้คนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงได้ แต่ถามว่า ต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ปัจจุบันมีแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ให้เข้าถึงได้ โดยใช้มาตรฐานระดับสากล หรือที่เรียกว่า Web Content Accessibility Guidelines หรือ WCAG มีหลักด้วยกัน 4 ประการ คือ 

  •  รับรู้ได้ (Perceivable)
  • เข้าใจได้ (Understandable)
  • ใช้งานได้ (Operatable)
  • รองรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย (Robust)

โดยแต่ละหลักการ มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไป ทั้งนี้เป็นความพยายามในการแก้ปัญหา ตลอดจนสร้างการเข้าถึง ให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการ สามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างสะดวกที่สุด

หน่วยงานรัฐนำร่อง สร้างการตระหนักรู้ “เว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้”

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐ ในการนำของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความพยายามในการผลักดัน และสร้างการตระหนักรู้ “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” โดยเผยแพร่ข้อมูล และสาระอันเป็นประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำไปปรับปรุงเว็บไซต์ของตัวเอง 

นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ใน 3 ระดับ คือ หลักสูตรระดับผู้บริหาร หลักสูตรระดับผู้พัฒนาเว็บไซต์ของภาครัฐ และหลักสูตรระดับผู้เผยแพร่เนื้อหาและข้อมูล พร้อมทั้งมีการวัดผลความรู้ และติดตามประเมินผลการพัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานผู้อบรม รวมไปถึงจัดให้มีการส่งเว็บไซต์ที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนา เข้าร่วมประกวดในรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้”

หลักเกณฑ์การประกวด “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” มีอะไร ?

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าภาพโครงการจัดการอบรมและการประกวดรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน Web Content Accessibility Guidelines (WCAG)” ได้แบ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาเว็บไซต์ที่เข้าร่วมประกวดไว้ 3 ขั้นตอน คือ

1 ขั้นตอนการตรวจสอบโดยไม่ใช้เครื่องมือ หรือแบบ Manual โดยมีรายการตรวจสอบทั้งสิ้น 13 องค์ประกอบ ซึ่งยึดหลักการตรวจสอบตามแนวทางมาตรฐานสากลของ WCAG ได้แก่

  • องค์ประกอบที่ 1 มีคำบรรยายเสียง ภาพ หรือ วิดีทัศน์ (Caption) และมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่แสดง และโปรแกรมสกรีนรีดเดอร์สามารถอ่านข้อมูลได้
  • องค์ประกอบที่ 2 มีการใช้ Tag ให้ Keyboard สามารถเข้าถึงในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ และการเข้าถึงตามลำดับชั้นได้ (Focus Order)
  • องค์ประกอบที่ 3 มีคำอธิบายที่ชื่อเมนูที่อ่านได้ชัดเจน
  • องค์ประกอบที่ 4 มีปุ่มควบคุมเสียง ที่สามารถหยุด ปิดเสียง หรือปรับระดับเสียงได้
  • องค์ประกอบที่ 5 มีปุ่มหรือเมนูที่เปลี่ยนเป็นตัวอักษรให้ตัวใหญ่ขึ้นได้
  • องค์ประกอบที่ 6 เห็นหรือได้ยินเนื้อหาได้ชัดเจน รวมทั้งสามารถแยกความแตกต่างของสีพื้นหน้าและพื้นหลังได้
  • องค์ประกอบที่ 7 สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยแป้นพิมพ์ได้
  • องค์ประกอบที่ 8 มีการกำหนดเวลาอย่างเพียงพอเพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านและใช้งานเนื้อหาได้
  • องค์ประกอบที่ 9 ไม่มีการเคลื่อนไหว กะพริบ หรือเลื่อนขึ้นลง (แสงวาบ 3 ครั้ง) หรือถ้ามี สามารถหยุดการเคลื่อนไหว กะพริบ หรือเลื่อนขึ้นลงได้
  • องค์ประกอบที่ 10 มีวิธีการให้ผู้ใช้สามารถท่องหน้าเว็บไซต์ ค้นหาเนื้อหา และทราบว่าตนเองอยู่ตำแหน่งใดในเว็บไซต์ได้ (Site Map)
  • องค์ประกอบที่ 11 ข้อความที่ใช้สามารถเข้าใจได้ง่าย
  • องค์ประกอบที่ 12 มีการออกแบบหน้าเว็บไซต์โดยใช้สัญลักษณ์ เช่น ไอคอน หรือรูปภาพที่สื่อความหมายชัดเจนและคาดเดาได้ 
  • องค์ประกอบที่ 13 เป็นเว็บไซต์ที่รองรับเทคโนโลยีเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย (Web Responsive)

ภาพ องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ต้องมีบนเว็บไซต์

2 ขั้นตอนการตรวจสอบโดยใช้โปรแกรมเช็กอัตโนมัติ โดยใช้ https://achecker.achecks.ca  และ http://validator.w3.org ในการตรวจสอบ ซึ่งหากโปรแกรมเช็กอัตโนมัติแสดงผล error ในส่วนใด ผู้พัฒนาเว็บไซต์จะต้องกลับไปแก้ไข เพื่อไม่ให้พบผล error หรือเรียกว่า error เป็นศูนย์ ถึงจะผ่านการตรวจสอบนี้ไป

ภาพ วิธีตรวจสอบด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ

3 ขั้นตอนการตรวจโดยคนพิการ โดยเชิญคนพิการด้านการเห็น และการได้ยิน มาทดสอบใช้เว็บไซต์จริง หากมีจุดไหนที่คนพิการพบว่ามีอุปสรรคต่อการใช้งาน เว็บไซต์ดังกล่าวจะไม่ผ่านการตรวจสอบในท้ายที่สุด

ดังนั้น หน่วยงานที่ส่งเว็บไซต์เข้าประกวด จะต้องผ่านการตรวจสอบทั้ง 3 ขั้นตอน จะขาดตกในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดไปไม่ได้ เพื่อให้ผ่านการกลั่นกรองของการเป็น “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” อย่างแท้จริง

งานประกาศผลรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG” และเสียงสะท้อนจากผู้อยู่เบื้องหลัง

หลังผ่านการอบรมตามหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ได้กลับไปปรับปรุง แก้ไข จากนั้นจึงทำการส่ง “เว็บไซต์” เพื่อเข้าประกวดกว่า 121 หน่วยงาน ผลปรากฏว่า มีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบทั้ง 3 ด่าน และได้รับรางวัลทั้งสิ้น 50 หน่วยงาน โดยเมื่อวันที่มีการประกาศมอบรางวัล มีแขกรับเชิญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง 

ภาพ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ

การณ์นี้ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานการมอบรางวัล ได้กล่าวแสดงความชื่นชม และถือเป็นนิมิตรหมายอันดี เนื่องจากงานครั้งนี้จะเป็นการสร้างการตระหนักรู้ ตลอดจนเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่จะสานต่อให้เกิดการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้นต่อไป

“ผมคิดว่าเรื่องดิจิทัล ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำหลายเรื่อง กรณีอยู่ห่างไกล เราสามารถใช้ดิจิทัล ทำให้คนที่ยากจนกว่า สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้มากขึ้น แต่อย่าลืมว่า คนที่อยู่ใกล้ ๆ บางทีเขาอาจจะมีจุดจำกัดเช่นกัน เช่น คนพิการ ทำอย่างไรให้เขาสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกด หรือเรื่องสี เพราะฉะนั้น เราอยากให้ ไม่ว่าใครก็ตาม ใช้เว็บไซต์ได้อย่างเท่าเทียมกัน”

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ หนึ่งในบุคลากรสำคัญที่เข้าร่วมงาน มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้เน้นย้ำเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ผมอยากให้ทุกภาคส่วน สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยเฉพาะในการเข้าถึงเว็บไซต์ คือนอกจากคนปกติใช้ได้แล้ว ผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นทางสายตา ทางหู สามารถเข้าใช้บริการได้ อย่างน้อยให้มีการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของทางภาครัฐครับ”

สำหรับหน่วยงานรัฐที่เข้ารับรางวัลทั้ง 50 หน่วยงาน ค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้น เป็นเว็บไซต์เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือว่าเป็นเว็บไซต์จากองค์กรท้องถิ่นเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ 

ภาพ นายณัฐวัฒน์ เรืองชัยโชค นายกเทศมนตรีตำบลพลับพลานารายณ์ จังหวัดจันทบุรี เข้ารับรางวัล

โดย นางสุภิดา ลิ้นทอง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลตำพลับพลานารายณ์ จังหวัดจันทบุรี เป็นตัวแทนกล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้ของ สดช. เป็นโครงการที่ดี และทำให้ได้เรียนรู้หลักการที่จะทำให้เว็บไซต์เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

“ปกติองค์การเทศบาลส่วนตำบล เป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่เราไม่รู้เลยว่า การออกแบบเว็บไซต์เข้าถึงประชาชนมากน้อยแค่ไหน จนเมื่อมาเข้าอบรมและลองตรวจสอบตามมาตรฐาน ปรากฏว่า ผลออกมา error เกือบสองร้อยจุด ซึ่งเราได้นำไปปรับปรุงแก้ไขทีละจุด จนในที่สุด ผลการ error เป็นศูนย์"

"จากการตรวจสอบเหล่านี้ ทำให้เชื่อมั่นว่า จากนี้ไปประชาชนทุกกลุ่มจะเข้าถึงเว็บไซต์ของเรา ซึ่งรางวัลที่ได้รับ ถือเป็นการนำร่องสำหรับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่ แต่หากทำเว็บไซต์ให้ทุกคนเข้าถึงได้ จะช่วยกันยกระดับสังคมได้ในอนาคต”

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารกับประชาชนทุกกลุ่ม นั่นคือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส เป็นอีกหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ และได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ภาพ ทีมผู้บริหารสำนักสื่อดิจิทัลแห่งไทยพีบีเอส เข้ารับรางวัล

ภาพ นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ กล่าวในงาน

โดยนายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ กล่าวว่า “ไทยพีบีเอสเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้าถึงข่าวสาร ความรู้ สาระประโยชน์ และสาระบันเทิง ได้อย่างเท่าทันและเท่าเทียมไปด้วยกัน และด้วยบริบทการเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ทำให้วิธีการรับสื่อมีความหลากหลาย ดังนั้น นอกจากไทยพีบีเอสจะพัฒนาเว็บไซต์ให้รองรับการเข้าถึงในทุกกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเติมเต็มด้วยการพัฒนาคอนเทนต์และใช้เทคโนโลยีผสมผสานให้เกิดนวัตกรรมสื่อเพื่อกลุ่มเปราะบางอีกด้วย”

ภาพ นายบริสุทธิ์ ผดุงโภคสูริย์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ในมุมของกรรมการที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หนึ่งในนั้น คือ นายบริสุทธิ์ ผดุงโภคสูริย์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สะท้อนมุมมองการใช้งานเว็บไซต์ในฐานะคนพิการทางสายตาให้ฟังว่า

 “ปกติคนตาบอดจะมีโปรแกรมอ่านหน้าจอ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีเสียงสังเคราะห์ในตัว เราติดตั้งลงไปในคอมพิวเตอร์ ซึ่งตรงนี้ บางเว็บก็มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยฝังโปรแกรมตัวอ่านเข้าไปในเว็บอีกทีนึง มีผลทำให้เสียงชนกัน เรื่องพวกนี้ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่” 

“จริง ๆ การเข้าถึง หลักสำคัญประการแรกคือ คนพิการสามารถรับรู้ได้ รับรู้ในที่นี้หมายถึง รับรู้ข้อมูลบนเว็บ ถ้าเป็นข้อความ ก็ต้องสามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แต่ในส่วนของรูปภาพ บางที่เข้าใจว่าคนพิการไม่จำเป็นต้องรับรู้ภาพก็ได้ ตรงนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริงแล้ว หากคนทั่วไปรับรู้อะไร คนพิการก็ต้องรับรู้แบบเดียวกันด้วย”

“สมมติทำข่าวขึ้นมาชิ้นนึง เราเขียนบรรยายจบปุ๊บ เรามีภาพประกอบ ซึ่งต้องเขียนบรรยายภาพ ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดลึกมาก เท่านี้คนพิการก็จะเข้าใจได้ว่า อ๋อ ภาพนี้ เป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาว่าอย่างไร”

“ผมมองว่า ปัจจุบันการพัฒนาเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ถือว่าดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องทำตามมาตรฐานให้ทุกคนเข้าถึงได้ แล้วไม่จำเป็นต้องแยกว่า แอปฯ นี้ของคนพิการ แอปฯ นี้ของคนทั่วไป เพียงแต่เวลาเราพัฒนาอะไรขึ้นมาสักอย่างนึง ต้องคิดอยู่บนพื้นฐานว่า ทำยังไงให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกันครับ”

เมื่อไรที่เกิดการเข้าถึงอย่างแท้จริง จะนำมาซึ่ง “ความเท่าเทียม” ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ภควัต รักศรี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ถ่ายทอดถึงสิ่งที่ได้สัมผัสจากงานครั้งนี้ให้ฟัง

ภาพ ดร.ภควัต รักศรี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ผมโชคดีได้เข้ามาดูแลโครงการ ได้พบปะพูดคุยกับคนพิการ มีคำพูดหนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่า ในแต่ละวินาที มีคนพิการพยายามที่จะเข้าถึงเว็บไซต์หลักมากมาย หลายคนท้อแท้ในชีวิต เขารู้สึกว่าชีวิตไม่รู้จะไปทางไหน แต่หากว่าเขาเกิดคลิกเข้าไปที่เว็บ แล้วเข้าถึงข้อมูล อาจจะเป็นงาน หรือเป็นโอกาสที่รัฐมีให้ หรืออาจจะมาจากสวัสดิการที่เขาสามารถไปรักษาตัว เรื่องเหล่านี้อาจพลิกชีวิต ทำให้เขากลับมาสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ”

“ผมเลยจะขออนุญาตเชิญชวนให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้พี่ ๆ สื่อมวลชน ให้กลุ่ม หรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ หรือคนทุกกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันขออนุญาตใช้คำว่า For All ให้มาร่วมกันเถอะครับ มาทำให้เว็บไซต์ หรือทำให้สื่อต่าง ๆ ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้”

หากสร้างการเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ยังเป็นการยกระดับ และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพีบีเอส รับรางวัล “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG”


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้Web Content Accessibility GuidelinesWCAG
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน