คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT) ในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เปิดเผยการพัฒนาวิธีการใหม่อันมีประสิทธิภาพในการระบุตำแหน่ง “ขยะพลาสติก” บนชายหาดจากอวกาศ โดยดัชนีขยะพลาสติกบนชายหาด (BPDI) จะระบุขยะพลาสติกตามแนวชายฝั่งด้วยแสงสะท้อนที่ตรวจจับโดยดาวเทียมขณะเคลื่อนผ่านเหนือพื้นที่
นักวิจัยระบุว่ามีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการแกะรอยขยะพลาสติกในมหาสมุทร แต่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพในการระบุตำแหน่งขยะพลาสติกบนชายหาดเพราะตัวขยะปะปนอยู่ในทราย ซึ่งวิธีการใหม่อันมีประสิทธิภาพนี้จะช่วยส่งเสริมความพยายามทำความสะอาดแนวชายฝั่ง
Jenna Guffogg ผู้นำการวิจัย กล่าวว่าขยะพลาสติกบนชายหาดอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสัตว์ป่าที่อาจเข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร สัตว์ขนาดใหญ่อาจถูกขยะพลาสติกเกี่ยวพันตัว สัตว์ขนาดเล็กอย่างปูเสฉวนอาจติดค้างอยู่ข้างในขยะพลาสติกอย่างกล่องพลาสติก ขณะเดียวกันขยะพลาสติกอาจย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติกหากไม่ถูกกำจัด
Guffogg เสริมว่าชายหาดบนเกาะห่างไกลหลายแห่งมีขยะพลาสติกอยู่หนาแน่นสูงสุดในโลก และปริมาณขยะพลาสติกและอุปกรณ์ตกปลาที่ถูกทิ้งบนแนวชายฝั่งอันห่างไกลทางตอนเหนือของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดัชนีขยะพลาสติกบนชายหาดระบุตำแหน่งขยะพลาสติกด้วยการแยกความแตกต่างของแสงสะท้อนระหว่างทราย น้ำ และพลาสติก โดยใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมด้วยดาวเทียมเวิลด์วิว-3 (WorldView-3) ซึ่งโคจรแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ที่ความสูงเหนือพื้นโลกราว 617 กิโลเมตร
คณะนักวิจัยทดสอบวิธีการนี้ด้วยการวางขยะพลาสติกเป้าหมายบนพื้นที่ราว 2 ตารางเมตร บริเวณชายหาดในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย จำนวน 14 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นทำมาจากพลาสติกประเภทต่าง ๆ และพบว่าดัชนีนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าดัชนีที่มีอยู่เดิม 3 ตัว ซึ่งถูกใช้ตรวจจับขยะพลาสติกบนดินและในแหล่งน้ำ
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : english.news, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech