ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ปวดท้องประจำเดือน” รุนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

24 ต.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“ปวดท้องประจำเดือน” รุนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1773

“ปวดท้องประจำเดือน” รุนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ประจำเดือน” ผู้หญิงจะมีอาการปวดมาก - น้อยแตกต่างกัน ซึ่งอาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติโดยเฉพาะหากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนเล็กน้อยแต่ปวดมาเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคร้ายได้เช่นเดียวกับอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดประจำเดือนนั้นแล้วรีบทำการรักษา

ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

รู้จักอาการปวดท้องประจำเดือน

ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรก ๆ อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อยและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น

woman-sitting-bed-with-abdominal-pain-pressing-her-hand-her-stomach

ปวดท้องประจำเดือน มีสาเหตุมาจากอะไร

โดยเฉลี่ยทุก ๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนชื่อว่า “โพรสตาแกลนดิน” (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

asian-woman-with-menstrual-problems-young-woman-with-stomach

อาการปวดประจำเดือน มี 2 ประเภท

ในการนรีเวชแบ่งอาการปวดประจำเดือนเป็น 2 กลุ่ม ตามสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน ดังนี้

1. ปวดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea)

คือ การปวดประจำเดือนที่ไม่มีโรคหรือพยาธิสภาพใด ๆ อาการปวดนี้เกิดจากสาร “โพรสตาแกลนดิน” (Prostaglandin) เป็นสารเคมีที่หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างการมีประจำเดือน สารดังกล่าวเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย และลดปริมาณเลือดมาเลี้ยงมดลูก และระดับออกซิเจนมายังมดลูก เหมือนอาการเจ็บครรภ์คลอด โดยสารดังกล่าวอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ ถ่ายเหลวในบางราย โดยทั่วไปอาการที่เป็นลักษณะจำเพาะของการปวดประจำเดือนปฐมภูมิ มีดังนี้

     - เริ่มปวดตั้งแต่หลังมีประจำเดือนใหม่ ๆ (less than 6 month after menarche)
     - ระยะเวลาของอาการจะเกิดภายใน 48-72 ชั่วโมงของการมีประจำเดือน
     - อาการปวดบีบหรือปวดคล้ายอาการเจ็บครรภ์คลอด
     - อาการปวดมักเริ่มจากบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจมีร้าวไปหลัง หรือต้นขาได้
     - ตรวจภายในไม่พบความผิดปกติ
     - อาจพบร่วมกับอาการคลื่นไส้ ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าได้

2. ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)

คือ อาการปวดประจำเดือนที่มีพยาธิสภาพ หรือโรคอื่นอันเป็นสาเหตุของการปวด หรือเกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ เช่น

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)

หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรคช็อกโกแลตซีสต์” เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก ซึ่งเมื่อเจริญผิดที่แต่ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือนเหมือนเดิม ทำให้อาจมีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกรานบริเวณที่มีเยื่อบุโพรวมดลูกไปเกาะในแต่ละรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงและอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก

เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)  

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก และ/หรือ เลือดประจำเดือนมากและยาวนานกว่าปกติ

เนื้องอกมดลูก (uterine fibroids)

มักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดมีตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หากมีขนาดใหญ่ มักทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมามากหรือประจำเดือนกะปริบกะปรอยนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง

ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease)

เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่รักษาให้หายขาด ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน และอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก

ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)

เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้าแต่หากรูปิดสนิท จะทำให้ของเหลวคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องมากและเรื้อรัง

ห่วงอนามัย

เนื่องจากห่วงอนามัยจำเป็นต้องใส่ไว้ภายในโพรงมดลูก จึงเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้เกิดพังผืดในมดลูกได้ด้วย

การมีพังผืดในช่องท้อง

พังผืดนี้อาจเกิดจากผลของการผ่าตัดคลอด หรือประวัติการผ่าตัดเข้าช่องท้องมาก่อน หรือการอักเสบในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง ก่อให้เกิดพังผืดที่มีการดึงรั้งมดลูก ขณะที่มดลูกบีบตัวในขณะมีประจำเดือน ก็ทำให้อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น หรือบางครั้งอาจปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนก็ได้

ความผิดปกติของโครงสร้างทางกายภาพในอวัยวะสืบพันธุ์ (Obstructive malformation of the genital tract)

โครงสร้างที่ผิดปกติอาจทำให้ประจำเดือนไหลออกมาไม่ได้ ทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเรื้อรัง ได้แก่ ภาวะเนื้องอกรังไข่ Ovarian  neoplasm, ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), การตั้งครรภ์, เนื้องอกมดลูกชนิดต่าง ๆ, Adrenal Insufficiency and Adrenal Crisis, การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท้องนอกมดลูก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease, Irritable Bowel Syndrome) เป็นต้น

ปวดท้อง

วิธีป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย

     - ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง
     - อาบน้ำอุ่น
     - ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ
     - รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น
     - พักผ่อนให้เพียงพอ
     - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
     - รับประทานผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมหวาน

หรือเข้าการรักษาด้วยยา (Medical therapeutic options) ซึ่งการรักษาด้วยยาแบ่งเป็น ยากลุ่มที่ไม่ใช่ฮอร์โมน และยากลุ่มฮอร์โมน

ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

การ “ปวดประจำเดือน” ที่ควรไปพบแพทย์

สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป

     - รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
     - อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น
     - มีอายุมากกว่า 25 ปีและรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
     - มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
     - เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
     - รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม
     - มีอาการติดเชื้อ เช่น ตกขาวมีกลิ่น อาการคันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ
     - มีบุตรยาก

สำหรับอาการ “ปวดประจำเดือน” นั้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ซึ่งจะอาการมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเฉพาะ ดังนั้น สตรีที่มีอาการผิดปกติ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลพญาไท

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ปวดท้องประจำเดือนปวดประจำเดือนDysmenorrheaประจำเดือนวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้) เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด