ยังคงถูกจับตามองจากประชาชน สำหรับแนวโน้มของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย หลังทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล 23 ข้อ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 แม้ว่าบันทึกความเข้าใจจะไม่มีการแก้ มาตรา 112 แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะได้เสียงโหวตจาก ส.ว. เพิ่ม เนื่องจากทางพรรคก้าวไกลเอง มีแนวทางแก้กฎหมาย มาตรา 112 แม้ MOU ร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องนี้ก็ตาม
แนวโน้มของ ส.ว.ในการโหวตนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้นการหารือกับ ส.ว. อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน ยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน ดังนั้นขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทาง คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน
กลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต
ทั้งนี้ ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. จะมีอำนาจโหวตนายกฯ จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แต่การทำหน้าที่ของ ส.ว. ในเรื่องอื่น ๆ สามารถทำต่อไปได้ และเมื่อถึงเวลาหลังจากวันที่ 11 พฤษภาคม หากมีการเลือกนายกฯ ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. โดยปราศจาก 250 ส.ว. ไปโดยปริยาย
Thai PBS ได้รวบรวมเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่ม รวมถึงสิทธิประโยชน์ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่พึงได้รับดังนี้
เงินเดือนและค่าตอบแทนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
1. ประธานวุฒิสภา
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท
2. รองประธานวุฒิสภา
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
3. สมาชิกวุฒิสภา
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท
รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
เงินเดือนและค่าตอบแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
1. ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท
รวมเป็นเดือนละ 125,590 บาท
2. รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
3. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท
รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท
- เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท
รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
สิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาล
1. การตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท
2. การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ของทางราชการและเอกชน
มี 2 กรณี ดังนี้
- กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน
- ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 4,000 บาท
- ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู./ซี.ซี.ยู./วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) 10,000 บาท
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง 100,000 บาท
- ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
- ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท
- ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 1,000 บาท
- ค่าปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง 4,000 บาท
- การรักษาทันตกรรม/ปี 5,000 บาท
- การคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ 20,000 บาท / คลอดโดยการผ่าตัด 40,000 บาท
- กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี 90,000 บาท-
- อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน/ครั้ง 20,000 บาท
ยังไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม
นอกจากนี้ ส.ส. กับ ส.ว. ยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น
- ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือนเดือนละ 24,000 บาท
- ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท
- ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวอีก 5 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท
อ้างอิง :
- หนังสือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556
- สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ 2557