ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “บอตแขก” ทวิตเตอร์ คุ้มไหม ? จ่ายเงิน X Premium แลกส่วนแบ่งรายได้


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “บอตแขก” ทวิตเตอร์ คุ้มไหม ? จ่ายเงิน X Premium แลกส่วนแบ่งรายได้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1717

รู้จัก “บอตแขก” ทวิตเตอร์ คุ้มไหม ? จ่ายเงิน X Premium แลกส่วนแบ่งรายได้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

"บอตแขก" ใน Twitter หรือ X คืออะไร ทำไม “บอตแขก” ต้องเข้ามาคอมเมนต์ในโพสต์ “คนไทย” พร้อมเปิดโมเดลการสร้างรายได้ของบอตแขก จากนโยบายเปิดการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ (Monetization)

ใครที่ใช้ X หรือ Twitter บ่อย ๆ ช่วงนี้ หากไปเจอโพสต์ที่ “แมส” (Mass) หมายถึงการที่มีคนเห็นโพสต์จำนวนมาก มียอดรีโพสต์สูง จะมีแอคเคานต์หนุ่มสาวที่ใช้รูปและชื่อโปรไฟล์เป็นชาวอินเดีย เข้ามารีพลายโพสต์รัว ๆ โดยพิมพ์ข้อความด้วยภาษาสุดแข็งทื่อ เหมือนผ่านการแปลมาจาก Google Translate นั่นแหละคุณเจอ “บอตแขก” เข้าให้แล้วล่ะ

“บอตแขก” ทวิตเตอร์ คืออะไร ?

“บอตแขก” ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เหยียดเชื้อชาติใด ๆ เนื่องจากเป็นคำที่ชาวทวิตเตี้ยนใช้เรียกแอคเคานต์บอตใน X (หรือ Twitter) ที่แต่งโปรไฟล์ใส่รูป ตั้งชื่อทำทรงเป็นชาวอินเดียหรืออาหรับ เพื่อเข้ามาโต้ตอบในโพสต์ที่ได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์ม X

ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเป็นบอต ? สังเกตุได้จากลักษณะการพิมพ์ข้อความที่ไม่เป็นธรรมชาติ ประโยคเดียวกันซ้ำ ๆ กันในหลาย ๆ โพสต์ มีรูปประโยคแปลก ๆ รวมทั้งการแสดงความเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโพสต์ ยกตัวอย่างในโพสต์ของ @khamoo_fc ที่โพสต์คลิปหมูเด้งฮิปโปแคระวิ่งไล่ลิงที่เข้ามาแย่งอาหารของแม่ โดยมีแคปชันว่า “ชั้นจำแกได้” เมื่อไปส่องคอมเมนต์ก็จะพบ…

  • อะไรตลก
  • เธอเป็นฮิปโปที่น่ารักมาก 
  • สัตว์ที่ฉันชอบคือและฉันชอบมันมาก ฉันรักฮิปฮอป
  • ลิงตัวนี้มันมาก
  • จำแกได้! 
  • หมูเด้งไม่เหงามีพี่จ๋อเป็นเพื่อน
  • ฮิปมีลูกกี่คนแล้วสวยขนาดไหน ฉันชอบพวกเขามาก

เมื่อคลิกไปส่องแอคเคานต์ก็พบว่า มีการไปรีพลายตอบโพสต์ทั้งภาษาไทย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ หลากหลายภาษา นอกจากนี้ ยังมีการ Copy ข้อความของคนไทยมาคอมเมนต์ตามโพสต์ดัง ๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้ เวลาชาว X จะเลื่อนอ่านคอมเมนต์ต่าง ๆ ต้องประสบพบเจอกับสิ่งเหล่านี้ จนบ่นกันระงม ทำให้การเล่น X ดูน่าเบื่อ เพราะแทนที่จะเป็นพื้นที่ให้ได้อ่านคอมเมนต์ของคนไทยจริง ๆ กลับต้องมาเจอกับบอตคอมเมนต์มั่วซั่วไม่เกี่ยวกับเรื่องราวสร้างความน่าหงุดหงิดใจ

ทำไม “บอตแขก” ต้องเข้ามาคอมเมนต์ในโพสต์ “คนไทย”

จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่โพสต์ของคนไทยเท่านั้นที่โดนก่อกวน เพราะบอตเหล่านี้ยังเข้าไปคอมเมนต์ในโพสต์ของชาวจีน ชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี รวมไปถึงต่างชาติด้วย

ถ้าไปดูข้อมูลสถิติจาก What’s the big data รายงานประเทศที่มีผู้ใช้งาน X หรือ Twitter มากที่สุด ข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค. 2023 พบว่า อันดับหนึ่ง คือ “สหรัฐอเมริกา” 95.4 ล้านคน รองลงมาคือ “ญี่ปุ่น” จำนวน 64.5 ล้านคน อันดับสามคือ “อินเดีย” จำนวน 27.25 ล้านคน ส่วน​“ประเทศไทย” จัดอยู่ในอันดับที่ 10 จำนวน 14.6 ล้านคน

ตัวเลขสถิตินี้อาจบ่งบอกได้ว่า โพสต์ที่แมสใน X ก็มักจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสูงนั่นแหละ

ทำไมต้องเป็นโปรไฟล์ชาวอินเดีย ?

ถ้าดูตามตัวเลขด้านบนจะพบว่า ประเทศอินเดียเป็น “อันดับ 3” ของโลกที่ใช้ X และด้วยศักยภาพของชาวอินเดียในวงการไอที โปรแกรมเมอร์ ถูกยกให้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นไปในเชิงแฮกเกอร์ แต่เป็นการใช้ความสามารถ และอาศัยช่องโหว่ที่แพลตฟอร์มเปิดให้ครีเอเตอร์หารายได้มาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดกฎ แต่เป็นการสร้างความรำคาญให้คนใน X เท่านั้นเอง

จุดเริ่มต้นของ “บอต” ก่อนจะมี “บอตแขก”

ย้อนกันไปยาวเลย ก่อนหน้านี้ Twitter API เปิดให้ผู้ใช้สร้างบัญชี “บอตทวิตเตอร์” (Twitter Bot) เพื่อโพสต์ ไลก์ รีทวีต ตอบกลับทวิตอัตโนมัติ ยกตัวอย่าง บอตที่โพสต์สัตว์โลกน่ารัก บอตสร้างคอนเทนต์ กราฟิก ข้อความสั้น บอตเล่าเรื่องผี บอตเล่าเรื่องตลก บอตแจ้งสภาพอากาศ บอตวิเคราะห์ข้อมูล เทรนด์ทวิตเตอร์ บอตอัปเดตความเคลื่อนไหวเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีมานานมากแล้ว

ส่วน “บอตแขก” นั้น คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากระบบ Verify แบบใหม่ของ Twitter หลัง “อีลอน มัสก์” เทคโอเวอร์แพลตฟอร์มนี้ไป โดยระบบ Verify ในอดีตนั้น หมายถึงการมีเครื่องหมายถูกสีฟ้า (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ติ๊กถูกสีฟ้า) ข้างหลังชื่อแอคเคานต์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นบัญชีขององค์กรหรือบุคคลสาธารณะตัวจริง ไม่ใช่แอคเคานต์ปลอมใด ๆ

แต่หลังการเปลี่ยนชื่อจาก Twitter เป็น X “มัสก์” ก็ได้เปลี่ยนนโยบายระบบ Verify ใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับแพลตฟอร์มมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการจ่ายเงินเพื่อสมัครสมาชิก X Premium ผู้ที่เป็นสมาชิก จะมีติ๊กถูกสีฟ้าข้างหลังชื่อแอคเคานต์ และสามารถเปิดการสร้างรายได้จากยอดปฏิสัมพันธ์บนโพสต์ได้ด้วย

โมเดลการสร้างรายได้ของ “บอตแขก”

1. “บอตแขก” จะเข้าไปรีพลายโพสต์ที่เป็นกระแส มียอดรีโพสต์สูง เพื่อสร้าง Reach ให้เกิน 5 ล้าน
2. เมื่อมี Reach เกิน 5 ล้าน โปรไฟล์บอตจะเข้าโมเดล Monetization การสร้างรายได้ของครีเอเตอร์
3. เมื่อเข้าโมเดล Monetization แล้ว บอตแขกก็จะไปสอดแทรกข้อความรีพลายตามโพสต์แมส ๆ ที่มียอดรีโพสต์ ไลก์ รีพลาย สูง ๆ เพื่อให้คนเห็นโพสต์ ประกอบกับโฆษณาของ X ที่ขึ้นอยู่ในโพสต์ด้วย 
4. ใช้ AI ในการค้นหาคำตอบว่า โพสต์แบบนี้ควรจะต้องคอมเมนต์แบบไหน เพื่อไม่ให้ X มองว่าเป็นแอคเคานต์บอตเกินไป 
5. ใช้โปรแกรมการค้นหาโพสต์ยอดนิยม และยิงคอมเมนต์ไปครั้งละหลาย ๆ โพสต์
6. ตามกลไกของ X คือ ถ้ามีรีพลายแล้วก็มักจะมีการแทรกโฆษณาระหว่างที่รีพลาย X จึงมองว่าการเห็นโฆษณาแล้ว คนที่จะได้ส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา คือ เจ้าของโพสต์ และคนที่รีพลายโพสต์นั้น ซึ่งเจ้าของโพสต์จะได้เยอะสุด ส่วนคนที่รีพลายจะได้ส่วนแบ่งน้อยกว่า (แต่ X ไม่ได้ระบุว่าเท่าไร) โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นสมาชิก X Premium มีคน Follower เกิน 500 แอคเคานต์ มี Reach เข้าชมโพสต์อย่างน้อย 5 ล้านครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

เงื่อนไขการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์
ราคา API ในแต่ละแพ็กเกจ

คุ้มไหม ? กับการจ่ายเงินติ๊กฟ้า เพื่อแลกกับส่วนแบ่งรายได้อันน้อยนิด

สำหรับราคาสมาชิก X Premium ถ้าเป็นในประเทศอินเดีย อยู่ที่ 650 รูปีต่อเดือน (ประมาณ 256 บาท) ขณะที่ค่า Twitter API ระดับ Basic 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 3,300 บาท) สรุปแล้วค่าใช้จ่ายต่อเดือนของแอคเคานต์บอตเหล่านี้ จะต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าเขียนโปรแกรมบอต ซึ่งมองว่าถ้าการใช้โปรแกรมเข้ามาช่วย ยิงกระจายไปหลาย ๆ โพสต์อาจจะได้ส่วนแบ่งรายได้มากกว่ารายจ่ายต่อเดือนพวกนี้แน่นอน

ราคาค่าสมัครสมาชิก X Premium ในแต่ละประเทศ

วิธีจัดการ “บอตแขก”

มีคนออกมาแนะนำวิธีการทำให้ “บอตแขก” หายไปหรือลดน้อยลงอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่เห็นผลและทำตามได้ง่าย ๆ ก็คือ

  • กด Mute คีย์เวิร์ด อิโมจิธงชาติ ภาษาอาหรับ ที่แอคเคานต์บอตมักใช้
  • การบล็อกผู้ติดตามของแอคเคานต์บอตที่เราเจอ เนื่องจากเป็นบอตกลุ่มเดียวกัน

อวสาน “บอตแขก” (จริงไหม ?)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 แพลตฟอร์ม X ประกาศการเปลี่ยนแปลงในโครงการส่วนแบ่งรายได้ของครีเอเตอร์ (Creator Revenue Sharing) ซึ่งรองรับสมาชิกที่สมัคร X Premium รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

จากเดิมส่วนแบ่งรายได้จะจ่ายให้โดยคำนวณจาก “จำนวนโฆษณา” ที่ถูกแสดงในรีพลายจะเปลี่ยนมาเป็นจ่ายตาม “จำนวน Engagement” จากผู้ใช้งาน X Premium แทน หมายความว่า แอคเคานต์ที่มีผู้ติดตามที่เป็น X Premium มากขึ้น และมีการโต้ตอบกับคอนเทนต์ รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะส่งผลให้บอตที่เข้ามารีพลายใต้โพสต์ที่แมส จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก Engagement แล้ว แต่จะให้เฉพาะคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานโพสต์เอง และนับ Engagement จากคนที่สมัคร X Premium เท่านั้น ส่วนการรีพลายหรือโควทที่มาจากบัญชีธรรมดาจะไม่นับ

โพสต์ของ X เรื่องนโยบายการสร้างรายได้แบบใหม่

แต่ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า ถ้า “บอตแขก” โพสต์เอง รีพลายเองกันในกลุ่มหลายร้อยหลายพันแอคเคานต์ จะเข้าเงื่อนไขการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ของ X ด้วยไหม ขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้บอตเหล่านี้ไปกระจุกอยู่ในกลุ่มแอคเคานต์บอตด้วยกันเอง โดยไม่ไปรบกวนผู้ใช้คนอื่น ๆ หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป.

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Social Mediaบอตแขก
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด