ครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 “การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์” หันมาทางโลก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

7 ต.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 “การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์” หันมาทางโลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1677

ครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 “การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์” หันมาทางโลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2024 เวลา 19:10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ ระดับ X9.05 บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ฝั่งที่หันมายังโลก ทำให้เกิด “สภาวะสัญญาณขาดหายชั่วคราว” กับสัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นในบริเวณทวีปแอฟริกาและยุโรป ซึ่งอยู่บนพื้นผิวโลกฝั่งที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ขณะเกิดการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์

การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (Solar flare) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ที่ปลดปล่อยรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครั้งใหญ่ในลักษณะของการปะทุจากพื้นผิวบริเวณที่มีจุดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งประเภทตามตัวอักษร ตั้งแต่ระดับ A (อ่อนสุด), B, C, M และ X (รุนแรงสุด) โดยตัวเลข 1 ถึง 10 ข้างหลังตัวอักษรบ่งชี้ถึงความรุนแรงเช่นกัน เช่น การลุกจ้าระดับ X1 จะเบากว่าระดับ X9 นอกจากนี้ การลุกจ้าระดับที่ลงท้ายด้วยเลขตัวเดียวกัน แต่ตัวอักษรบอกระดับอยู่ติดกัน จะมีความรุนแรงต่างกัน 10 เท่า เช่น การลุกจ้าระดับ X1 รุนแรงกว่าระดับ M1 อยู่ 10 เท่า

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความรู้ว่า การลุกจ้าครั้งนี้ ปะทุจากกลุ่มจุดบนดวงอาทิตย์ AR3842 (AR ย่อมาจาก Active Region) ซึ่งกลุ่มจุดหย่อมนี้เคยมีการลุกจ้าขึ้นมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาที่ระดับ X7.1 ร่วมกับการพ่นมวลโคโรนา (CME) ซึ่งเป็นการพ่นมวลอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้ากลุ่มใหญ่ออกจากดวงอาทิตย์ แต่ CME ในครั้งนี้ได้มุ่งหน้ามายังโลก และจะมาถึงโลกในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 5 ตุลาคม เกิดเป็น “พายุแม่เหล็กโลก” (Geomagnetic storm) ที่เกิดจากสนามแม่เหล็กโลกถูกรบกวนจากคลื่นกระแทกของกลุ่มอนุภาคมีประจุไฟฟ้าจำนวนมากจากดวงอาทิตย์ (ลมสุริยะและ CME)

On Oct. 3, the sun released the most powerful solar flare this solar cycle, a colossal X9.05 eruption - and it's heading for Earth.  ภาพจาก NASA, SDO and the AIA, EVE, and HMI science teams, helioviewer.org

ระหว่างที่เกิดพายุแม่เหล็กโลก อนุภาคมีประจุเหล่านี้จะเกิดอันตรกิริยากับอนุภาคแก๊สในบรรยากาศของโลก จนอนุภาคแก๊สปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง ในช่วงดังกล่าวจึงอาจเกิดแสงเหนือ-แสงใต้ (ออโรรา) ที่สว่างและกระจายตัวเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เองก็ต้องรอและติดตามผลที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะ “สภาพอวกาศ” (Space Weather : สภาพแวดล้อมทางแม่เหล็กไฟฟ้าในห้วงอวกาศ) เป็นสิ่งที่แปรปรวนและทำนายไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้ว่าจะเกิดขึ้นตามมาไม่นานจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ครั้งใหญ่ในระดับ X คือ สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราว (Radio blackout)

สภาวะสัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นที่ขาดหายชั่วคราว ซึ่งเกิดในแถบยุโรป-แอฟริกาในต้นเดือนนี้ เป็นผลจากรังสีที่แผ่มาจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ที่เดินทางมาถึงโลก และทำให้อนุภาคแก๊สในบรรยากาศชั้นบนของโลกมีประจุไฟฟ้า อนุภาคแก๊สมีประจุส่วนนี้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้นที่ใช้สื่อสารคมนาคมเดินทางผ่านได้ยากขึ้น เพราะเมื่อคลื่นวิทยุเดินทางผ่านชั้นอนุภาคแก๊สมีประจุไฟฟ้า จะเสียพลังงานจากการชนกับอิเล็กตรอนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนสัญญาณคลื่นวิทยุอ่อนลงหรือถูกดูดกลืนไปทั้งหมด

การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะรอบปัจจุบัน (วัฏจักรสุริยะรอบ 25) ครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา เกิดขึ้นในวัฏจักรสุริยะรอบก่อนหน้า (วัฏจักรสุริยะรอบ 24) เมื่อในเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 เกิดการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์รุนแรงถึงระดับ X13.3 และ X11.8 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของวัฏจักร ทั้งนี้ กิจกรรมทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ เช่น จุดบนดวงอาทิตย์ การปะทุต่าง ๆ จะเกิดขึ้นมากน้อยสลับวนกันเป็นวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) ครบรอบทุก ๆ ประมาณ 11 ปี


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์Solar flareดวงอาทิตย์อวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด