“เทปโก” โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี (Tokyo Electric Power Company Holdings : TEPCO) ผู้ดำเนินงาน “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ” (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ของญี่ปุ่น รายงานว่าจะกลับมาเริ่มเก็บกู้กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 อีกครั้งในวันนี้ (10 ก.ย. 67)
รายงานระบุว่ากระบวนการเก็บกู้ต้องอาศัยการสอดอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายคันเบ็ดเข้าไปในถังบรรจุของเตาปฏิกรณ์เพื่อเก็บตัวอย่างกากเชื้อเพลิง ซึ่งมีน้ำหนักราวไม่กี่กรัมหรือราวหนึ่งช้อนเต็ม
การดำเนินการดังกล่าวเดิมกำหนดไว้ว่าจะเริ่มต้นในวันที่ 22 ส.ค. 67 ทว่าต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากเกิดปัญหาขัดข้องในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ดึงกากเชื้อเพลิงซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่จากเทปโก และมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) บริษัทผู้รับเหมา
สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่ามาซาโอะ อุจิโบริ ผู้ว่าการจังหวัดฟุกุชิมะ ได้แสดงความกังวลระหว่างการแถลงข่าว โดยเรียกร้องให้เทปโกจัดทำกรอบการกำกับดูแลที่เข้มงวด และไม่ควรพึ่งพาผู้รับเหมาช่วงเพียงอย่างเดียวในการสร้างแผนการจัดการความปลอดภัย
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา เทปโกรายงานว่ามีการแก้ไขขั้นตอนที่เกี่ยวข้องแล้ว ขณะการติดตามอุปกรณ์เก็บกู้ยืนยันว่ามันสามารถทำงานได้อย่างไร้ข้อขัดข้องแล้ว
อนึ่ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เผชิญแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ตามมาตราแมกนิจูด และสึนามิตามมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 54 (ค.ศ. 2011) ทำให้เกิดการหลอมละลายของแกนกลางจนปล่อยกัมมันตรังสีออกมา นำสู่การเกิด “อุบัติเหตุนิวเคลียร์ระดับ 7” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES)
รายงานคาดว่ามีเศษเชื้อเพลิงรวมราว 880 ตันภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 หมายเลข 2 และหมายเลข 3 ซึ่งแกนกลางเกิดหลอมละลายในอุบัติเหตุ โดยเดิมทีแผนการทดลองกำจัดเศษซากอันตรายนี้จะดำเนินในปี 64 ทว่าต้องเลื่อนออกไปถึง 3 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และปัญหาทางเทคนิค
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : english.news, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech