พรรณไม้น่ารู้ ! พาไปรู้จักกับ “ก้านเกาสตุภะ” ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า 𝘗𝘢𝘳𝘢𝘣𝘰𝘦𝘢 𝘨𝘭𝘢𝘯𝘥𝘶𝘭𝘪𝘧𝘦𝘳𝘢 (Barnett) C. Puglisi อยู่ในวงศ์ Gesneriaceae และยังมีชื่ออื่น ๆ ได้แก่ ชาม่วง ชาครามดอย โดยได้ชูช่ออวดโฉมความงดงามทั่วผืนป่าดอยหัวหมด
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูง 10-25 ซม. แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ แต่ละช่อมี 1-3 ดอก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีแดงอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปรีกว้าง ปลายมน กลีบดอกสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปเกือบกลม เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้ 2 เกสร ก้านชูอับเรณูติดบนหลอดกลีบดอก อับเรณูขนาดใหญ่สีม่วงเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เรียวยาว ผลแก่บิดเป็นเกลียว เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก
ก้านเกาสตุภะเป็นพืชหายากของไทย พบเฉพาะทางภาคเหนือ (พบมากที่ดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก) ขึ้นตามพื้นหินปูนผุกร่อนหรือตามซอกหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 800-900 ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ต่างประเทศพบที่เมียนมา มีสถานภาพเป็นพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) ตามเกณฑ์การประเมินของ IUCN 2012
Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้
📌อ่าน : พืชชนิดใหม่ของโลก ! “เปราะอาจารย์สุมนต์” พืชถิ่นเดียวในไทย จาก จ.สกลนคร
📌อ่าน : พรรณไม้น่ารู้ ! “สิงโตกำมะหยี่” กล้วยไม้ถิ่นเดียวของไทย
📌อ่าน : ชวนรู้จัก “สิงโตนายสนิท” กล้วยไม้ป่าดิบเขาภาคเหนือไทย
📌อ่าน : พรรณไม้น่ารู้ ! “จำปีสิรินธร” พันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและหายากของไทย
📌อ่าน : บานสะพรั่งรับลมร้อน “ดอกกุหลาบขาว” พันธุ์ไม้พื้นถิ่นบนเทือกเขาสูง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iucnredlist, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech