ระบบตรวจจับดาวเคราะห์น้อยของ NASA ตัวจับดาวเคราะห์น้อยเฉียดใกล้โลกพร้อมกันสองดวง


Logo Thai PBS
แชร์

ระบบตรวจจับดาวเคราะห์น้อยของ NASA ตัวจับดาวเคราะห์น้อยเฉียดใกล้โลกพร้อมกันสองดวง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1384

ระบบตรวจจับดาวเคราะห์น้อยของ NASA ตัวจับดาวเคราะห์น้อยเฉียดใกล้โลกพร้อมกันสองดวง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ระบบเรดาร์ตรวจจับดาวเคราะห์น้อยของ NASA JPL ตรวจจับดาวเคราะห์น้อยที่เดินทางเข้ามาใกล้โลกพร้อมกันได้ถึงสองดวง และยังสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงได้ระหว่างที่กำลังเดินทางผ่านโลก

ระบบเรดาร์ตรวจจับเทหวัตถุในอวกาศที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Deep Space Network ได้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยสองดวงเดินทางผ่านเข้ามาเฉียดใกล้โลก ซึ่งมีชื่อว่า 2024 MK และ 2011 UL21 ตามลำดับ ซึ่งทั้งคู่ได้เดินทางจากโลกไปอย่างปลอดภัย

ชุดภาพถ่ายของดาวเคราะห์น้อย 2024 MK ที่ถูกสร้างภาพโดยเรดาร์ขณะที่เคลื่อนที่เฉียดโลก

ดาวเคราะห์น้อยทั้งสองถูกตรวจพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ของ NASA ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 ที่พบนั้นมีดวงจันทร์บริวารโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย ส่วนดาวเคราะห์น้อย 2024 MK นั้นพบเพียง 13 วันก่อนที่มันจะเดินทางเข้ามาเฉียดโลก จากการคำนวณ วัตถุทั้งสองไม่มีความเสี่ยงที่จะเดินทางมาชนกับโลก แต่ในการที่ดาวเคราะห์ทั้งสองเดินทางเฉียดโลกในครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับความรู้อย่างมาก

ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 ถูกค้นพบเมื่อปี 2011 ในการเดินทางเฉียดโลกในครั้งนี้เราพบมันในวันที่ 27 มิถุนายน 2024 ที่จุดที่ใกล้ที่สุด ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 6.6 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 17 เท่าของระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลก ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราสามารถจับภาพดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้อย่างชัดเจนโดยการถ่ายภาพด้วยเรดาร์ มันมีขนาดประมาณ 1.5 กิโลเมตร และถึงแม้มันจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทหวัตถุที่มีโอกาสเป็นอันตรายกับโลกแต่จากการคำนวณมันไม่ได้มีโอกาสที่จะเป็นอันตรายกับโลกของเราในอนาคต

ภาพเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์น้อย 2024 MK โดยการใช้เรดาร์ในการสร้างภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย

การถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 นี้ได้ใช้จานรับสัญญาณเรดาร์ขนาด 70 เมตร Deep Space Station 14 (DSS-14) ของเครือข่าย Deep Space Network ในการส่งคลื่นวิทยุออกไปและรับสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจากดาวเคราะห์น้อย ทำให้สามารถสร้างภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะพื้นผิวและหลุมอุกกาบาตต่าง ๆ บนพื้นผิวของมัน ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีลักษณะเป็นทรงกลม ทีมวิศวกรยังค้นพบว่ามันเป็นดาวเคราะห์น้อยคู่ด้วย เพราะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่าหรือดวงจันทร์ขนาดเล็กโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงหลักจากระยะห่างประมาณ 3 กิโลเมตร

สองวันต่อมา ในวันที่ 29 มิถุนายน ทีมเดียวกันได้สังเกตเห็นดาวเคราะห์น้อย 2024 MK เคลื่อนผ่านโลกของเราด้วยระยะห่างเพียง 295,000 กิโลเมตร หรือประมาณสามในสี่ของระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลก ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีความกว้างประมาณ 150 เมตร และดูเหมือนว่าจะมีรูปร่างยาวและเป็นเหลี่ยมมุม ในการจับภาพดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ทางทีมได้ใช้จานรับสัญญาณ Deep Space Station 14 (DSS-14) ในการส่งสัญญาณวิทยุออกไปเช่นเดิมเพียงแต่ในครั้งนี้พวกเขาใช้จานรับสัญญาณ Deep Space Station 13 (DSS-13) ขนาด 34 เมตร เป็นตัวรับสัญญาณ

ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 โดยการใช้เรดาร์ในการสร้างภาพถ่ายซึ่งที่ภาพถ่ายไม่ชัดเพราะว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อยู่ห่างจากโลกมากกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ 17 เท่า

การเข้าใกล้ของวัตถุใกล้โลกที่มีขนาดเท่ากับ 2024 MK นั้นค่อนข้างหายาก โดยเฉลี่ยจะเกิดขึ้นประมาณทุก ๆ 20 ปี ดังนั้นทีม JPL จึงพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดังกล่าวให้ได้มากที่สุด เพราะนี่เป็นโอกาสพิเศษในการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรอยู่ใกล้โลก

ระบบแจ้งเตือนครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับการชนกันของดาวเคราะห์น้อยบนโลก (ATLAS) ซึ่งได้รับทุนจากองค์การ NASA ตรวจพบดาวเคราะห์น้อย 2024 MK เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ณ สถานีสังเกตการณ์ซัทเทอร์แลนด์ ในแอฟริกาใต้ วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เปลี่ยนไปเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้คาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่ 3.3 ปีของดาวเคราะห์น้อยลดลงไปประมาณ 24 วันจากคาบเริ่มต้น แม้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยงสูง แต่จากการคำนวณการเคลื่อนที่ พบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก็ไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อโลกของเราในอนาคตอันใกล้

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ระบบตรวจจับดาวเคราะห์น้อยระบบเรดาร์ตรวจจับดาวเคราะห์น้อยดาวเคราะห์น้อยองค์การนาซานาซาNASAอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด