กลายเป็นกระแสข่าวที่ถูกพูดถึงอย่างมาก สำหรับข่าวการปรับเปลี่ยนป้าย “กรุงเทพ” บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน ซึ่ง กทม.เป็นผู้ดูแล โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องความสวยงาม และการเปรียบเทียบระหว่างป้ายเก่ากับป้ายใหม่ รวมถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
นี่อาจไม่ใช่กรณี #ดรามาป้าย ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์วิพากษ์วิจารณ์ “ป้าย” มาหลายครั้ง Thai PBS รวม #ดรามาป้าย เคยเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ? มาบอกกัน
ดรามาป้าย M Flow ปัญหาการสื่อสารของคนขับรถ
ปี 2565 กรมทางหลวงเปิดตัว “M Flow” ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น นอกจากเรื่องการใช้งานที่ผู้ใช้รถยนต์ต้องเรียนรู้ในระยะแรก ยังพบปัญหาเรื่องของป้ายบอกรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่สะดวกต่อการใช้งาน
เช่น ข้อความในบ้ายมีขนาดเล็ก และยาว อัดแน่นอยู่บนป้ายเดียว รวมทั้งบางรูปประโยคบนป้าย มีการสื่อสารที่เข้าใจยาก และสีโลโก้ที่มองเห็นยากในเวลากลางคืน
ต่อมา มีการเพิ่มเติมป้ายที่สื่อสารง่ายขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าผ่านทาง ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
-ดีเดย์ 15 ก.พ.ให้บริการ M-Flow เก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น
ดรามาป้าย “สถานีกลางบางซื่อ” กับงบเปลี่ยนชื่อกว่า 33 ล้านบาท
ปี 2566 เกิดอีกหนึ่งดรามาเรื่องป้าย เมื่อมีข่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ งานนี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และมีคำถามจากสังคมเรื่องตัวเลขงบประมาณที่ “สูง” เกินไป ?
-การรถไฟฯ แจงยิบงบฯ 33 ล้าน เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ
-"ศักดิ์สยาม" สั่งสอบป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน ขีดเส้น 7 วันรู้ผล
ต่อมา มีการแจ้งรายละเอียด “ค่าใช้จ่าย” ในการเปลี่ยนป้ายครั้งนี้ อาทิ ค่าตัวอักษร ราคาตัวละ 500,000 บาท (จำนวนตัวอักษรและตราสัญลักษณ์ รวมกันทั้งหมด 112 ตัว) ค่างานรื้อถอน การเปลี่ยนผนังกระจก โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม การจัดทำระบบไฟแสงสว่าง และอื่น ๆ เพื่อยืนยันเรื่องที่มาของค่าใช้จ่าย ตลอดจนยืนยันเรื่องความโปร่งใส คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย การรถไฟฯ จึงมีการชะลอการปรับเปลี่ยนป้าย และกลับมาทบทวนในรายละเอียดเรื่องการเลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
ดรามา “ป้ายรถเมล์”
ปี 2567 มีกรณีดรามาเรื่องป้าย ซึ่งหนนี้เป็น “ป้ายรถเมล์” มีประชาชนร้องเรียนเรื่องป้ายรถเมล์ บางจุดยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลที่แสดงบนป้าย ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเกิดความเข้าใจผิด
เป็นเหตุให้บางป้ายรถเมล์ มีประชาชนนำปากกามาขีดฆ่าหมายเลขรถประจำทางบางคัน ที่ไม่ได้วิ่งผ่านบริเวณนั้นแล้ว รวมถึงเขียนรายละเอียดเส้นทางที่รถวิ่งเพิ่มเติมลงไปในป้ายรถเมล์อีกด้วย
งานนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ออกมาชี้แจงว่า ปัจจุบันมีป้ายหยุดรถเมล์ทั่วกรุงเทพมหานคร ที่ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2555-2556 กว่า 5,000 ป้าย ในจำนวนดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงข้อมูลบนป้ายประมาณ 500 ป้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 2 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายน 67
ดรามา “ป้ายกรุงเทพ” สกายวอล์ก ปทุมวัน
อีกหนึ่งกรณีดรามาเรื่องป้ายที่กำลังร้อนแรง นั่นคือ การเปลี่ยนป้ายสติกเกอร์บนคานรางรถไฟฟ้า บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า จุดนี้เสมือนเป็น “แลนด์มาร์ก” ที่ชาวไทยและชาวต่างชาติ นิยมมาถ่ายภาพยามเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวที่กรุงเทพ
ภายหลังที่มีภาพการเปลี่ยนป้ายเผยแพร่ออกไป มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ทั้งมุมบวกและมุมลบ แถมมีประเด็นต่อยอดไปที่ราคาค่าจ้างที่มีตัวเลขราว 3 ล้านบาท ภายหลัง กทม. ออกมาชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ข้อเท็จจริงคือ ได้จ้างเหมาเอกชนเพื่อกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของ กทม.ตั้งแต่ปี 2566 เป็นวงเงิน 2.95 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนป้ายกรุงเทพ เป็นหนึ่งในชิ้นงานของโครงการนี้ ยังมีรายละเอียดของชิ้นงานอื่น ๆ อีกหลายส่วนด้วยกัน
นอกจากนี้ กทม. ยัง “ฝ่ากระแสดรามา” ด้วยการประกาศให้ประชาชนสามารถโหลดฟอนต์ที่ใช้ในการออกแบบ “ฟอนต์เสาชิงช้า” ได้ฟรีอีกด้วย
ขึ้นชื่อว่า “ป้าย” ต้องทำหน้าที่สื่อสาร และแจ้งกล่าวเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งอย่างครบถ้วน ส่วนเรื่องความสวยงาม เป็นเรื่องรสนิยมที่แตกต่างกันไป และเรื่อง “ราคาของป้าย” อยู่ที่ความเหมาะสม และการใช้ประโยชน์สูงสุด
อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
-กทม.เปลี่ยนสติกเกอร์ "Bangkok" รอบ 20 ปี ต้อนรับ Pride Month
-แห่เช็กอิน ป้าย Bangkok แต่ยังเสียงแตกแบบไหนสวยกว่า
-กทม.ชี้แจงใช้งบ 2.9 ล้านจ้างเอกชนกำหนดอัตลักษณ์ "กทม."