ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดสิทธิประโยชน์ "เครื่องแบบนักเรียน" ที่รัฐช่วยเหลือผู้ปกครอง


Insight

20 พ.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

เปิดสิทธิประโยชน์ "เครื่องแบบนักเรียน" ที่รัฐช่วยเหลือผู้ปกครอง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1178

เปิดสิทธิประโยชน์ "เครื่องแบบนักเรียน" ที่รัฐช่วยเหลือผู้ปกครอง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ชุดนักเรียน” ถือเป็นอีกส่วนสำคัญในช่วงเปิดเทอม แต่เปิดเทอมมาไม่นานก็มีหนังสือจากกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการผ่อนผันชุดนักเรียน ส่งผลให้เกิดคำถามมากมาย สะท้อนให้เห็นปมปัญหาเกี่ยวกับเครื่องแบบ ชุดนักเรียน เครื่องแต่งกาย บางครอบครัวอาจไม่พร้อมท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
Thai PBS เปิดสิทธิประโยชน์ “เครื่องแบบนักเรียน” ที่รัฐมีส่วนช่วยเหลือผู้ปกครองในช่วงรับการเปิดภาคเรียนใหม่

เงินอุดหนุนเครื่องแบบ – อุปกรณ์นักเรียน

ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา โดยมีลักษณะเป็นการเบิกจ่ายในรูปแบบของ “เงินอุดหนุนรายหัว”
ค่าเครื่องแบบก็อยู่ในการนโยบายส่วนนี้ โดยมีแนวทางให้สามารถเบิกจ่ายแบบถัวกันได้ในส่วนของ “ค่าอุปกรณ์การเรียน” และ “ค่าเครื่องแบบ” มีรายละเอียดอัตราที่จ่ายให้ตามชั้นปี ดังนี้

ค่าอุปกรณ์การเรียน
- ระดับอนุบาล 290 บาท
- ประถมศึกษา 440 บาท
- มัธยมศึกษาตอนต้น 520 บาท
- มัธยมศึกษาตอนปลาย 520 บาท
- ระดับ ปวช.1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 520 บาท

ค่าเครื่องแบบนักเรียน 
- ระดับอนุบาล 325 บาท
- ประถมศึกษา 400 บาท
- มัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาท
- มัธยมศึกษาตอนปลาย 550 บาท
- ระดับ ปวช.1-3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาท

ทั้งนี้ แนวทางการจ่ายเงินนั้นจะให้สถานศึกษาจ่ายเงินสดหรือโอนเงินให้กับผู้ปกครองก่อน แล้วผู้ปกครองนำใบเสร็จหรือหลักฐานการใช้จ่ายมาให้สถานศึกษาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวในมุมของผู้ปกครองแล้วเป็นเพียงบางส่วนที่ช่วยเข้ามาจุลเจือ เนื่องจากชุดเครื่องแบบจะมีราคาที่สูงกว่าที่เบิกได้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะสามารถใช้ซื้อเครื่องแบบได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วงปี 2565 – 2566 ช่วงก่อนเปิดเทอมทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับเอกชนในการจัดให้เกิดการลดราคาเครื่องแบบเพื่อช่วยอีกทางนึง

นอกจากเงินอุดหนุน รัฐมีมาตการช่วยเหลืออะไรอีกบ้าง ?

การสนับสนุนด้านเครื่องแบบ นอกจากการเบิกจ่ายแล้วยังมีนโยบายยกเว้นผ่อนผันตามกรณีที่เกิดขึ้น

กรณีล่าสุดของการยกเว้นเครื่องแบบจากหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือเรื่อง การยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน โดยมีการแจ้งให้สถานศึกษาพิจารณาได้ตามความเหมาะสมและเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่การยกเลิกเครื่องแบบอย่างที่มีกระแสข่าวความเข้าใจผิดเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการออกแนวทางด้านกฎระเบียบที่มีการปรับให้ยืดหยุ่น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องแบบเครื่องแต่งกาย ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการมีการออกหนังสือสั่งการให้มีการยืดหยุ่นเรื่องการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด เพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้ปกครองแล้ว ให้คงไว้เฉพาะตราสัญลักษณ์ที่บอกว่าเรียนวิชาลูกเสือเท่านั้น

การผ่อนผัน-ยกเว้นตามกรณี

เครื่องแบบนักเรียนกับราคาที่ต้องจ่าย ทางออกที่เหมาะสมคืออะไร ?

เครื่องแบบนักเรียนถือเป็นปมหนึ่งที่ส่งผลต่อหลายฝ่าย ทั้งปกครองที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตลอดจนนักเรียนที่ต้องสวมใส่ทำตามระเบียบ แล้วเราจะแก้ปัญหาเครื่องแบบในระบบการศึกษาไทยได้อย่างไร ?

งานวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในหัวข้อ ประสบการณ์และความคิดเห็นต่อเครื่องแบบนักเรียนเพื่อสะท้อนปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้า: วิเคราะห์จากแนวคิดความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ การศึกษาพบว่า ผู้ปกครองและครูมองเห็นประโยชน์ของการมีเครื่องแบบ ทั้งในเรื่องของการฝึกวินัยและลดความเหลื่อมล้ำที่จะแสดงออกผ่านการแต่งกาย

อย่างไรก็ดี เงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบยังคงไม่เพียงพอสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน และอาจผลักเด็กบางส่วนจากระบบการศึกษาได้ จึงควรมีการพัฒนาสวัสดิการด้านศึกษาที่ครอบคลุมทั้งค่าเทอม และค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ รวมถึงค่าเครื่องแบบอย่างครบถ้วนด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
"ตรีนุช" ย้ำ ศธ.ไม่บังคับแต่งลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ปี 65
จี้ ศธ.ตอบให้ชัด ทำไมต้องจัดหา “ชุดลูกเสือ” ถ้าสั่งไปแล้วว่าไม่ต้องใส่
เช็กเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน 2567 ระดับอนุบาล-ม.ปลาย
รมว.ศธ.สั่งด่วนยกเว้นผ่อนผัน "เครื่องแบบนักเรียน-รองเท้า" ลดภาระผู้ปกครอง

อ้างอิง
ประสบการณ์และความคิดเห็นต่อเครื่องแบบนักเรียนเพื่อสะท้อนปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้า: วิเคราะห์จากแนวคิดความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ชุดนักเรียนชุดนักเรียนไทยเครื่องแบบเครื่องแบบนักเรียนเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด