จาก “กากแคดเมียม” ถึง “ไฟไหม้โรงงานเก็บสารพิษ” เปิดวังวน “มลพิษโรงงานไทย” ทำไมควบคุมไม่ได้ ?


Insight

29 เม.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
จาก “กากแคดเมียม” ถึง “ไฟไหม้โรงงานเก็บสารพิษ” เปิดวังวน “มลพิษโรงงานไทย” ทำไมควบคุมไม่ได้ ?

จากกรณีพบกากแคดเมียมที่เป็นอันตรายถูกลักลอบทั้งขนย้ายและเก็บรักษาอย่างไม่ถูกต้อง สู่เหตุไฟไหม้โกดัง รวมถึงโรงงานเก็บสารพิษที่จังหวัดระยอง ชวนให้เกิดข้อสงสัย เหตุใด “มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม” จึงยากจะควบคุม ? 
มากไปกว่านั้น เหตุการณ์ทำนองนี้ เป็นวังวนที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง Thai PBS ชวนหาคำตอบ มีหนทางใดที่สามารถหยุดวังวนของการเกิดมลพิษเหล่านี้ได้บ้าง

ต้นตอของปัญหาโรงงานกับกากมลพิษคืออะไร ?

ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่โรงงานขนาดเล็ก สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีที่จังหวัดนครราชสีมา กรณีไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลจังหวัดราชบุรี ซึ่งเกิดซ้ำหลายครั้ง และกรณีไฟไหม้ที่โกดังเก็บสารเคมีจังหวัดอยุธยา

ล่าสุด “วิน โพรเสส” โรงงานเก็บกากสารเคมีอุตสาหกรรม ที่จังหวัดระยอง เกิดเหตุไฟไหม้ ภายในมีโกดังเก็บสารเคมี ส่งกลิ่นเหม็น และสร้างความไม่ปลอดภัยต่อชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังมีกรณีพบ “กากแคดเมียม” ที่มีการลับลอบเก็บไว้ในหลายพื้นที่ทั้งชลบุรี สมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพฯ

จากหลากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว Thai PBS ชวน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย มาร่วมสะท้อนถึงปัญหา และช่วยกันหาทางออก โดย สนธิมองว่า จุดร่วมที่ทำให้โรงงานเหล่านี้ก่อปัญหาขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็น ทั้งยังเกิดมาจากการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ทว่าในมิติของการควบคุม รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รองรับ ยังไม่เพียงพอ

“ที่ผ่านมาโรงงานจัดการขยะขนาดเล็กมีเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากคำสั่งคสช. ฉบับที่ 4/2559 ที่ประกาศให้โรงงานประเภท 101 (กำจัดกากอุตสาหกรรม) 105 (คัดแยกกากอุตสาหกรรม) 106 (รีไซเคิลขยะ) และโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ สามารถตั้งได้โดยไม่ต้องพิจารณาข้อกำหนดตามพรบ.การผังเมือง เป็นเวลา 1 ปี โดยในเวลานั้น ประเทศจีนกำลังมีนโยบายไม่รับขยะจากต่างประเทศเข้ามารีไซเคิล โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2551 และจะยกเลิกทั้งหมดในปี 2564 จึงทำให้มีโรงงานขยะจากจีน ทั้งเครื่องจักรเครื่องกลต่าง ๆ ย้ายเข้ามาตั้งในไทยเป็นจำนวนมาก”

“นอกจากนี้ ประเทศไทยเรายังมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชีวมวล (Bio-Circular-Green economy) คือการส่งเสริมนำกากอุตสาหกรรมมารีไซเคิล หรือบริหารจัดการกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการออก พรบ.โรงงานฉบับใหม่ (พรบ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562) ที่อำนวยความสะดวกให้โรงงานขนาดเล็กไม่ต้องต่อใบอนุญาต (จากเดิมที่ต้องต่ออายุทุก ๆ 5 ปี) ผลที่ตามมาจึงมีโรงงานเกิดขึ้นจำนวนมาก และหลายครั้งก็เป็นโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน”

กรณีไฟไหม้วิน โฟรเสส

จากปัจจัยที่ สนธิ เล่ามาทั้งหมด กรุยทางให้เกิดโรงงานขนาดเล็กขึ้นเป็นจำนวนมาก แถมยังเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้เขตชุมชน โดยจุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดจากการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่ชอบมาพากล

“การกำจัดกากอุตสาหกรรมจะเริ่มต้นจากโรงงานต้นทางเปิดประมูล ซึ่งโดยปกติ หากโรงงานไหนเสนอราคาประมูลมาถูก ก็จะเลือกเจ้านั้น จึงเกิดการแข่งขันทางราคากัน ทำให้โรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เสนอราคามาถูก ได้รับการประมูลไป แต่ด้วยความที่ไม่มีมาตรฐาน เช่น อาจจะไม่มีเครื่องจักรที่ใช้กำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี เดิมทีต้องกำจัดด้วยการหลอม แต่กลับลักลอบเก็บไว้ แล้วขนไปไว้ที่อื่น หรือฝังไว้ในพื้นที่ของโรงงาน ทั้งหมดจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นตามมา”

กรณีการลับลอบเก็บสารต้องห้ามไว้ สนธิ ขยายความต่อว่า เคยมีที่เป็นคดีความ จนสุดท้ายมีคำสั่งศาลให้อายัติ พร้อมกับสั่งให้กำจัดอย่างถูกวิธี แต่มักจะเกิดเหตุเพลิงไหม้โดยที่จับตัวผู้ต้องสงสัยไม่ได้ขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาในปี 2566 กรมโรงงานจึงมีประกาศใหม่ ให้โรงงานต้นทางร่วมรับผิดชอบ หากโรงงานปลายทางที่รับขยะไป ไม่สามารถจัดการขยะได้ แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่สามารถยับยั้งวงจรดังกล่าวได้อยู่ดี

“เดิมทีโรงงานต้นทางต้องจ่ายเงินประมูลให้โรงงานปลายทางนำไปกำจัด แต่ตอนนี้กลายเป็นโรงงานต้นทางเปิดประมูลขายกากอุตสาหกรรมแทน โดยรู้กันกับโรงงานปลายทางให้เสนอราคารับซื้อไป ทำให้โรงงานต้นทางไม่ต้องรับผิดชอบกับการกำจัดขยะของโรงงานปลายทาง”

กรณีลักลอบเก็บกากแคดเมียม

ทั้งนี้ ตลอดกระบวนการขนส่งวัตถุอันตรายทั้งหมด สนธิเผยว่า ต้องมี “ใบกำกับการขนส่ง” ที่ระบุตั้งแต่โรงงานต้นทาง โรงงานปลายทาง มีการติดตามจีพีเอสของรถที่ขนส่ง รวมถึงปริมาณและชนิดของขยะ ทั้งจากต้นทางถึงปลายทาง ต้องเป็นชนิดเดียวกัน ปริมาณตรงกัน รวมถึงระบุด้วยว่าโรงงานปลายทางจะต้องเอาไปทำอะไร 

และต้องมีการตรวจสอบด้วยว่า โรงงานปลายทาง มีเครื่องจักรที่สามารถทำได้ตามที่ระบุไว้ ทว่าที่ผ่านมาอาจมีการคอรัปชันเกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ได้มีการตรวจสอบและเกิดการขนส่งไปยังโรงงานที่ไม่ได้มีเครื่องจักรที่สามารถจำกัดกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้จริง

“วังวนที่เกิดจึงเป็นกระบวนการที่หลายฝ่ายรู้เห็นกัน ทำให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมันมีแบบนี้เยอะ ตอนนี้ที่มีเปิดเผย คือกากแคดเมียม แต่มีที่เรายังไม่รู้ เช่น พวกกากอลูมิเนียม น่าจะมีความไม่ชอบมาพากลอยู่อีก”

ทางออกของปัญหา เป็นอย่างไร ?

ปัญหาวังวนมลพิษจากโรงงาน ทางออกจึงเป็นการยกเลิกบางนโยบายที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน และเพิ่มมาตรการอื่น ๆ ร่วม เพื่อควบคุมและช่วยให้เกิดการเยียวยา และแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที โดยเรื่องนี้ สนธิ ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามประเด็นนี้ เผยถึงทางออกที่สรุปได้ 7 ข้อหลักด้วยกัน

1. ยกเลิกคำสั่งคสช. ฉบับที่ 4/2559 โดยให้โรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับกากอุตสาหกรรมที่มีพิษสูง ต้องกลับมาตั้งในนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการที่มีระบบปิด

2. การขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน ให้มีการจัดทำรายการ EIA หรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยประเมินว่าจะมีการก่อมลพิษอย่างไร ? จัดการอย่างไร ? เพื่อให้เป็นทางการ และระบุไว้เป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต

3. ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ โดยให้ประชาชนต้องรับรู้ก่อนว่า จะรับหรือไม่รับโรงงาน ที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง

4. ตรวจสอบอย่างเข้มข้น เดิมทีเมื่อโรงงานได้รับอนุญาตแล้ว หน่วยงานราชการจะต้องบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่กำลังคนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอาจไม่เพียงพอ จึงควรกระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลตำบล อาจจะตั้งเป็นเฉพาะกรณีกากอุตสาหกรรมอันตราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ลงตรวจสอบได้

5. หน่วยงานราชการควรมีส่วนร่วมในการตั้งเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงงานที่มีสารพิษ เพื่อให้ประชาชนร่วมกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบ เนื่องจากโรงงานเหล่านี้ค่อนข้างมีอิทธิพล อาจกระทำผิดกฎหมายได้

6. กองทุนและประกันภัยสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ควรมีข้อบังคับให้โรงงานเหล่านี้ ทำประกันภัยและจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายกับชาวบ้าน หรือกรณีมีคำสั่งศาลให้ขนย้าย สามารถใช้เงินจากทั้งประกันและกองทุนมาจัดการแก้ปัญหาได้ทันที โดยกลไกนี้จะส่งผลให้บริษัทประกันภัยเข้ามามีส่วนช่วยตรวจสอบโรงงานเหล่านั้นอีกทาง และกองทุนโรงงานจะเป็นฝ่ายฟ้องร้องนำเงินกลับสู่กองทุนเมื่อเกิดเหตุขึ้น

7. ออกกฎหมาย PRTP (Pollutant Release and Transfer Register) คือทำเนียบการปลดปล่อย เคลื่อนย้าย หรือเก็บรักษาสารพิษในโรงงาน ต้องมีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

แนวทางทั้งหมดนี้ สนธิให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งส่วนของประกันภัย กองทุน รวมถึงกฎหมาย PRTP เพื่อให้เกิดทั้งความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกัน หากเกิดกรณีที่เป็นปัญหาขึ้นอีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านไม่ทน! แจ้งเอาผิดอุตสาหกรรมเมินแก้มลพิษ “วิน โพรเสส”
13 ปี "วิน โพรเสส" พิพาทมลพิษปนเปื้อน “หนองพะวา”
“แคดเมียม” อันตรายแค่ไหน ประชาชนต้องป้องกันตัวเองอย่างไร
ระทึก ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมัน โรงงานกำจัดสารเคมี ปากช่อง จนท.ระดมดับวุ่น
ไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลพลาสติก จ.ราชบุรี
เปิดเบื้องหลัง โรงงานรีไซเคิลราชบุรี ไฟไหม้ไม่ใช่เหตุแรก
เร่งระงับเหตุไฟไหม้ "โกดังเก็บสารเคมี" อยุธยาฯ เตือนระวังอันตรายจากควัน
"เสี่ยเจษฎา" ยันซื้อขาย "กากแคดเมียม" ถูกต้อง - ตร.แจ้ง 4 ข้อหา
ย้อนเส้นทางกากพิษ “แคดเมียม”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กากแคดเมียมปัญหามลพิษทางอากาศมลพิษกากอุตสาหกรรมโรงงาน
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ