เขื่อนคือสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์สำหรับบริหารจัดการน้ำ แต่มีอีกมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการสร้างเขื่อนได้เหมือนกับมนุษย์ นั่นคือ บีเวอร์ และการสร้างเขื่อนของบีเวอร์นั้นไม่ธรรมดาเพราะเขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นมีขนาดที่ใหญ่มาก ถึงขนาดที่ว่าเราจะสามารถมองเห็นได้จากอวกาศได้เลยทีเดียว
เขื่อนภูมิพล เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาวของสันเขื่อนอยู่ที่ 486 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เชื่อหรือไม่ว่า เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาวของสันเขื่อนยังเล็กกว่าเขื่อนที่บีเวอร์เป็นผู้สร้างเสียอีก เพราะความยาวของสันเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของบีเวอร์นั้นยาวถึง 850 เมตร หรือใหญ่เกือบสองเท่าของเขื่อนภูมิพล
ในปี 2007 ได้มีการค้นพบเขื่อนบีเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกบน Google Earth เขื่อนบีเวอร์แห่งนี้อยู่ที่ใจกลางป่าอุทยานแห่งชาติวุดบัฟฟาโล (Wood Buffalo National Park) ประเทศแคนาดา ซึ่งเมื่อย้อนศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อดูต้นกำเนิดของเขื่อนแห่งนี้แล้วก็พบว่าเขื่อนแห่งนี้ปรากฏตั้งแต่ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจสภาพแวดล้อมตั้งแต่ในช่วงปี 1975 แสดงว่าเขื่อนของบีเวอร์แห่งนี้อยู่มาตั้งแต่ 50 ปีก่อน
บีเวอร์ (Beaver) เป็นสัตว์ฟันแทะ (rodents) ที่อาศัยอยู่ในเขตซีกโลกเหนือ มีสองสปีชีส์คือ บีเวอร์สายพันธุ์ยูเรเชีย (Castor fiber) กับ บีเวอร์สายพันธุ์อเมริกาเหนือ (Castor canadensis) บีเวอร์มีพฤติกรรมหนึ่งที่โดดเด่นคือการที่มันจะล้มต้นไม้แล้วนำไปสร้างเขื่อนเพื่อขวางทางน้ำ ทำให้เกิดพื้นที่ชุ่มน้ำเหนือเขื่อนของบีเวอร์
บีเวอร์นั้นไม่ได้อยู่อาศัยภายในเขื่อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เขื่อนของบีเวอร์เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์เพื่อขวางทางน้ำเท่านั้น รังของมันจริง ๆ อยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของบีเวอร์ รังของมันถูกสร้างลอยอยู่กลางน้ำ ยากต่อการเข้าถึงของสัตว์นักล่า และที่สำคัญ ทางเข้ารังของบีเวอร์นั้นอยู่ใต้น้ำ ทำให้มีเพียงแค่บีเวอร์เท่านั้นที่สามารถว่ายน้ำเข้าไปพักอาศัยอยู่ภายในรังได้
บีเวอร์สร้างเขื่อนขึ้นมาขวางทางน้ำโดยการใช้ฟันของมันแทะต้นไม้ให้ล้ม จากนั้นจะตัดท่อนซุงเป็นท่อนที่เล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการลากท่อนซุงไปยังพื้นที่สร้างเขื่อน บีเวอร์จะใช้ท่อนไม้ กิ่งไม้ ก้อนหิน และ ดินโคลนในการสร้างเขื่อน รวมถึงรังของมัน ซึ่งถึงแม้ว่าพฤติกรรมการสร้างเขื่อนของมันจะต้องล้มต้นไม้หลายต้น และดูคล้ายพฤติกรรมการตัดต้นไม้ของมนุษย์ที่เร่งกระบวนการภาวะโลกร้อน แต่การตัดไม้เพื่อนำมาสร้างเขื่อนของบีเวอร์นั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นการสร้างสมดุลให้กับป่า และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มอัตราการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับผืนป่า
บีเวอร์ไม่ได้สร้างเขื่อนขึ้นมาอย่างสุ่ม ๆ เหมือนที่เราเข้าใจกัน แต่บีเวอร์เลือกสร้างเขื่อนในทำเลที่เหมาะสม มีแม่น้ำไหลผ่านด้วยความเร็วปานกลางโดยที่ไม่ไหลช้าจนเกินไป ซึ่งพื้นที่เหนือเขื่อนนั้นจะเป็นพื้นที่ที่กักเก็บน้ำได้ดี การสร้างเขื่อนของบีเวอร์ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสน้ำ แต่ทำให้กระแสน้ำนั้นไหลช้าลง ระดับน้ำหลังเขื่อนจึงเพิ่มสูงขึ้น และเกิดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและพื้นที่สร้างรังให้กับสัตว์ปีกทั้งนกน้ำและนกป่าอีกหลายชนิด พื้นที่ชุ่มน้ำเรียกได้ว่าเป็นระบบนิเวศที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก
ประโยชน์ของเขื่อนของบีเวอร์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ด้านระบบนิเวศ แต่มันยังมีประโยชน์กับมนุษย์อีกด้วย เพราะว่าเขื่อนของบีเวอร์คือพื้นที่รับน้ำชั้นดี สามารถป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำจากภาวะที่ไม่ปกติได้ เช่น น้ำไหลหลากเฉียบพลัน หรือภาวะแล้ง อีกทั้งเขื่อนของบีเวอร์นั้นยังเป็นแนวกันไฟป่าธรรมชาติที่ดีอีกด้วย เพราะแหล่งน้ำโดยรอบเขื่อนจะคอยสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน ช่วยทำให้ไฟป่าไม่ลุกลามเร็วเกินไปและป้องกันการเกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
ในอดีตมนุษย์มีการล่าบีเวอร์เนื่องจากอุตสาหกรรมป่าไม้ที่เติบโตในทวีปอเมริกาเหนือ บีเวอร์นั้นสร้างรอยแผลให้กับต้นไม้อีกทั้งยังล้มต้นไม้ในพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ หนังของบีเวอร์นั้นมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ จึงมีการล่าบีเวอร์เพื่ออุตสาหกรรมหนังสัตว์ ทำให้ช่วงหนึ่งบีเวอร์นั้นแทบจะหมดไปจากแผ่นดินของทวีปอเมริกา แต่ภายหลังเริ่มมีการเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของบีเวอร์ มีโครงการอนุรักษ์บีเวอร์เพิ่มขึ้นและเราเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการล่าบีเวอร์ เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรบีเวอร์และขยายแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับบีเวอร์ เพราะบีเวอร์นั้นสร้างประโยชน์ให้กับทั้งธรรมชาติและมนุษย์ และเป็นอีกหนึ่งฮีโรผู้พิทักษ์ผืนป่าและช่วยเราต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันแบบที่เราคาดไม่ถึง
เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์ พิสูจน์อักษร
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : guinnessworldrecords, youtube, geostrategis
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech