ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

งานวิจัยออสเตรเลียพบ " BA.5" ปรับตัวเข้าสู่เซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น

สังคม
11 ก.ค. 65
10:06
1,303
Logo Thai PBS
งานวิจัยออสเตรเลียพบ " BA.5" ปรับตัวเข้าสู่เซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ดร.อนันต์ นักไวรัสวิทยา เผยผลวิจัยจากประเทศออสเตรเลียพบโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเข้าสู่เซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ติดเชื้อวันนี้ 1,811 คน เสียชีวิต 24 คน

วันนี้ (11 ก.ค.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1,811 คน ผู้ป่วยสะสม 2,323,419 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,268 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 24,076 คน ปอดอักเสบ 786 คน และเสียชีวิต 24 คน 

ขณะที่ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ทีมวิจัยในออสเตรเลีย ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของไวรัส BA.5 เทียบกับ BA.1 และ BA.2 ในห้องปฏิบัติการ

พบว่าไวรัส BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้หลายทีมวิจัยพบว่าโอมิครอน โดยเฉพาะ BA.1 อาจจะติดเซลล์ปอดได้น้อยกว่าเดลต้า เพราะโอมิครอน ใช้วิธีเข้าเซลล์ไม่เหมือนเดลต้า ซึ่งเซลล์ปอดจะเข้ายากกว่าเดิมด้วยกลไกที่ BA.1 ใช้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่ช่วยให้ความรุนแรงของไวรัสลดลงได้ในระดับนึง

ผลการศึกษาของทีมออสเตรเลีย พบว่า BA.5 อาจจะปรับตัวเองให้กลับมาใช้กลไกเดิมเหมือนเดลต้า หรือใช้กลไกใหม่ที่ผสมๆ กันระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน ที่ส่งผลให้เข้าเซลล์อย่างเซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น

เป็นข้อมูลที่บอกว่า BA.1 เปลี่ยนได้ BA.5 ก็เปลี่ยนกลับได้ ไม่มีอะไรที่คาดการณ์ได้กับไวรัสที่มีโอกาสติดโฮสต์ได้มหาศาลขนาดนี้ กลไกใดๆที่ช่วยให้ไวรัสอยู่รอด เพิ่มจำนวนได้ดีที่สุด ไวรัสจะปรับตัวเองไปทางนั้น ความรุนแรงเป็นของแถมจะมากขึ้นหรือน้อยลงตอบอะไรไม่ได้

 

ภาพ:เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana

ภาพ:เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana

ภาพ:เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana

 

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยเทียบปริมาณไวรัสที่ติดเชื้อได้ต่อค่า RT-PCR ที่นิยมวัดกันเป็น Ct (จำนวนรอบของปฏิกิริยาที่จำเป็นต้องใช้ในการให้ผลบวก) ตัวเลขง่ายๆ สำหรับ BA.2 (จุดสีเขียว) ค่า Ct ที่ 20 อาจจะมีไวรัสที่ติดเชื้อไปต่อได้ 100 อนุภาค (ที่เหลือ RNA อาจจะมาจากซากเชื้อ) แต่ BA.5 (จุดสีม่วง) ค่า Ct ที่ 20 เหมือนกัน

อนุภาคไวรัส ที่ยังคงความสามารถในการติดเชื้อได้มีสูงถึง 10,000 อนุภาค หรือมากกว่าเดิม 100 เท่า ซึ่งเป็นลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสตัวก่อนเกิดโอมิครอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะของไวรัสที่ปรับตัวย้อนกลับไปเหมือนสายพันธุ์เก่ากว่าโอมิครอน

ตั้งแต่โควิดอุบัติมาทำให้เชื่อว่าการทำนาย หรือคาดการณ์ไวรัสในอนาคตว่า จะเป็นแบบนั้นแบบนี้คงจะเป็นการใช้องค์ความรู้เดิมจากไวรัสตัวอื่นมาใช้ เมื่อองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และขัดจากความเชื่อเดิมๆว่าไวรัสจะปรับเปลี่ยนไปแบบเดิมที่เชื่อกัน ถ้าเราปรับทันจะช่วยให้ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน แต่ถ้ายังยึดติดกับอะไรเดิมๆบางครั้งอาจจะไม่มีประโยชน์ที่จะยอมรับอะไรภายหลัง

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2022.07.07.22277128v1