วานนี้ (3 ก.พ.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ หรือ ซีดีซี ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า การไม่ให้ถูกยุงกัดและหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อจากผู้ที่เคยอยู่ในจุดที่มีการระบาดของโรค เป็นหนทางป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด
เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุข ของยูเอ็น ฟาวเดชัน เปิดเผยผ่านบีบีซีว่า การพบผู้ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ถือว่าเป็นเรื่องที่มีนัยยะสำคัญ โดยเปรียบเทียบกับการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี-เอดส์ แต่ในกรณีของไวรัสซิกาอาจจะแย่กว่า เนื่องจากสามารถแพร่เชื้อได้สองทาง ทั้งจากยุงและจากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อที่พบในสหรัฐฯ นี้ ถือเป็นรายที่สองที่พบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยรายแรกพบที่เฟรนช์โปลินีเชีย เมื่อปี 2556เชื้อไวรัสซิกา มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยหากผู้ติดเชื้ออยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ จะเสี่ยงต่อการที่ทารกจะคลอดออกมาโดยที่สมองไม่ได้พัฒนาเต็มที่ เนื่องจากศีรษะเล็กกว่าปกติ ซึ่งในขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 2 รายในออสเตรเลีย โดยคนทั้งสอง เดินทางกลับมาจากประเทศในแถบแคริบเบียน
ขณะที่ รศ.สุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ นักวิจัยภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ยุงลายที่เป็นพาหะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นชนิดเดียวกับยุงพาหะไวรัสของไวรัสเดงกี และชิคุนกุนยา แต่สำหรับประเทศไทยเชื่อว่ายุงลายที่มีเชื้อซิกาจะมีปริมาณน้อย แตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ที่พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก ในเดือนเมษายนจะเป็นช่วงเวลาที่ยุงมีเชื้อไวรัสเดงกีสูงที่สุด ซึ่งเป็นหน้าแล้ง เพราะฉะนั้นการระบาดของไข้เลือดออกก็จะเกิดในหน้าฝน
ด้าน ศ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ไวรัสซิกาสามารถถ่ายทอดผ่านทางน้ำนม และสายรกได้ด้วย เมื่อรับเชื้อเข้าไปจะมีระยะฟักตัว 2-7 วัน โดย 2-5 วันแรกจะมีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ปวดเมื่อย อาการคล้ายไข้เลือดออก เเต่โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างโรคไข้เลือดออก แต่ที่เป็นปัญหาคือทำให้ทารกมีศีรษะเล็ก เเละพิการทางสมองแต่กำเนิด