วันนี้ (31 ม.ค.2559) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ควรปรับแก้ คือ การเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก ตามกระบวนการปกติ ด้วยบทบัญญัติที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.เพราะพรรคเห็นว่า ผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐควรต้องมีส่วนยึดโยงกับประชาชน
พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนนเสียงโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะเชื่อว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน กรณีที่ต้องการเลือกตัวบุคคลและพรรคการเมืองต่างกัน พร้อมเป็นห่วงถึงดุลยภาพอำนาจในสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีการกำหนดให้มีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายค้านรวมอยู่ด้วย อาจทำให้เกิดปัญหาเสียงข้างมากลากไป เหมือนในอดีต แต่ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะรับ หรือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยจะหารือกันภายในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกลับไปยัง กรธ.
ก่อนหน้านี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นไม่ยึดโยงประชาชนโดยเฉพาะบทเฉพาะกาล ไม่เป็นนิติรัฐและไม่มีหลักนิติธรรม ขณะที่การออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปสำคัญ กลับเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการที่นายจาตุรนต์ระบุว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้นโดยเชื่อว่า เป็นอำนาจเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรูปแบบการตักเตือนการทำงานของรัฐบาล ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อกำหนดว่าต้องมีเสียงสนับสนุนร้อยละ 10 จากทุกพรรคการเมือง เท่ากับประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากออกเสียงประชามติคว่ำร่างฉบับนี้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไม่กังวลกับเสียงวิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น แต่พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นที่มีเหตุผล โดยนำเสนอทั้งประเด็นที่ไม่เห็นด้วย และข้อเสนอแนะ พร้อมย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นมีจุดเด่นที่การปราบโกง และการทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมีผลในทางปฏิบัติ โดยระบุให้เป็น หน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นหมวดใหม่ และหาก กรธ.มีโอกาสได้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.จะพิจารณาเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นประหารชีวิต