ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อ่านความจริงจากปาก “พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง” ต้นตอปัญหาที่ดินราไวย์-ใครคือคนรังแก "ชาวเล"

สังคม
30 ม.ค. 59
14:53
10,541
Logo Thai PBS
อ่านความจริงจากปาก “พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง” ต้นตอปัญหาที่ดินราไวย์-ใครคือคนรังแก "ชาวเล"
“ถ้าไม่มีชาวเล เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะและชาวเลแถบอันดามัน พื้นที่นั้นก็จะไม่ใช่แผ่นดินของไทย เหมือนในวันนี้ เพราะสมัยก่อนมาเลเซีย เป็นผู้กำหนดเขตแดนฝั่งอันดามัน แต่จากการตั้งถิ่นฐานของชาวเลมายาวนานในบริเวณนี้ จึงเป็นหลักฐานสำคัญในการกำหนดเขตแดนทำให้แถบอันดามันเป็นดินแดนของไทย นี่จึงเป็นข้อเท็จจริง และเป็นความชอบธรรมที่พวกเขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของ”

นี่เป็นคำกล่าวของ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเล ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส โดยยืนยันว่า “การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของชาวเลในแถบอันดามันมาหลายชั่วอายุคน จนเป็นที่ประจักชัดทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม เป็นหลักฐานและหลักการสำคัญที่จะนำมาแก้ปัญหาที่ดินชาวเลที่มีมาอย่างช้านาน”

เหตุการณ์ที่ราไวย์เป็นเพราะการแก้ปัญหาล่าช้า

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 กรณีที่มีชายฉกรรจ์กว่า 100 คน พร้อมรถแบคโฮขนหินมาปิดเส้นทางเข้าออกหาดราไวย์ พื้นที่หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ปิดทางสาธารณะที่ชาวเลราไวย์ บริเวณหาดราไวย์ ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรม และจอดเรือประมง จนชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นชาวเลพื้นเมืองดั้งเดิมบนหาดราไวย์ ออกมาคัดค้าน จนเกิดการเข้าตะลุมบอน มีชาวเลได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน

นี่เป็นเหตุการณ์ที่ พล.อ.สุรินทร์ระบุว่า เกิดจากความล่าช้าของการแก้ปัญหา ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ได้ แม้ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ทั้ง 5 ชุด ได้แก่ 1.อนุกรรมการด้านที่อยู่อาศัย 2. อนุกรรมการด้านวัฒนธรรม ประเพณี การตั้งชุมชนดังเดิม 3.อนุกรรมการด้านฐานข้อมูลประชากรและการตั้งถิ่นฐาน 4.อนุกรรมตรวจสอบข้อมูลด้านต่างๆเปรียบเทียบกับแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ และ 5.อนุกรรมการด้านจัดการที่ดินทำกิน ที่ตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการแก้ปัญหาฯมีแนวทางที่ชัดเจน แต่ก็พบปัญหาอุปสรรคที่ทำได้ยาก

“ที่ผ่านมามีการประชุมระดับอนุกรรมการแต่ละชุดมาอย่างต่อเนื่อง แต่การประชุมรวมคณะใหญ่ทำได้ยากมาก เพราะขาดบุคลากรในการจัดเตรียมข้อมูลการประชุม จึงเกิดความล่าช้า ทำให้ที่ผ่านมาเพิ่งมีการประชุมไปเพียง 2 ครั้ง และเมื่อมีเหตุการณ์ที่หาดราไวย์ จึงประชุมเร่งด่วนครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 มกราคม 2559 ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นการหารือในระดับพื้นที่ ถึงสาเหตุของการทำงานที่ความล่าช้า” พล.อ.สุรินทร์กล่าว

 

ข้าราชการตัวการรังแกชาวเล “ออกเอกสารทับที่ดิน-ไล่รื้อ-แจ้งความเอาผิด”

พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า ปัญหาที่ดินชาวเลเกิดขึ้นจากการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชาวเล จนถูกไล่รื้อและข่มขู่ และปัญหาถูกหน่วยงานรัฐ แจ้งความเอาผิด ในข้อหาเป็นผู้บุกรุก ซึ่งในกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชาวเลนั้น ชาวเลที่อาศัยในแถบ 5 จังหวัด ฝั่งทะเลอันดามัน ไม่ได้ไปจดแจ้งกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินหลังปี 2497 มีการออก พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน เพราะส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก

ขณะเดียวปัญหายังเกิดจากภาครัฐ ประกาศเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม ประกาศเป็นป่าสงวนและพื้นที่อนุรักษ์ โดยไม่มีการกันแนวเขตที่ชาวเลอาศัยอยู่ด้วยชอบ เพราะเห็นว่าทะเลอันดามันมีความสมบูรณ์ ควรแก่การอนุรักษ์เอาไว้

“การประกาศพื้นที่หวงห้าม อาจจะเป็นไปได้ ถ้าพื้นที่นั้นจำเป็นต้องหวงห้าม แต่หลักของกฎหมาย เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่า พื้นที่ใดมีผู้อาศัยอยู่ จะต้องมีการสำรวจและกันออก ซึ่งฝ่ายปกครองท้องที่ อย่างนายอำเภอจะต้องสำรวจทั้งจำนวนประชากร สำรวจจำนวนบ้านและที่ดินว่ามีจำนวนเท่าไหร จากนั้นต้องกำหนดในแผนที่ให้ชัดเจน ส่งให้กับป่าไม้จังหวัด เพื่อส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการ กันพื้นที่ที่มีคนอาศัยนั้นออกและจัดทำแนวเขต เพื่อให้คนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ขยายแนวเขตออกไปอีก และเพื่อคนข้างนอกก็จะไม่เข้าไปบุกรุก แต่ครั้งนั้น คือความบกพร่องของหน่วยราชการ เพราะไม่มีการกันออก ทำให้ชาวเลกลายเป็นผู้บุกรุกในที่ดินของตัวเอง”

ยืนยันที่ดิน “หาดราไวย์” ถูกออกเอกสารสิทธิ์ทับ

พล.อ.สุรินทร์เล่าว่า ปัญหาที่ดินชาวเลแต่ละพื้นที่ มีบริบทที่แตกต่างกัน เช่น ในเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล มีคนบนบกหรือคนนอกพื้นที่ ซึ่งเข้ามาแต่งงานกับชาวเลเป็นกำนัน พอมีความรู้ ก็จดแจ้งครอบครองที่ดินเพียง 40 ครอบครัว จากที่มีทั้งหมด 200 ครอบครัว โดยเป็นการแจ้งทับที่ดินของชาวเลด้วยกันเอง ที่ไม่ได้ไปจดแจ้ง ส่วนที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต มีคนนอกแจ้งครอบครองทับที่ดินของชาวเลราไวย์

“ทำไมถึงกล้าพูดว่า มีการออกโฉนดทับที่ดินราไวย์ เพราะมีภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปที่หาดราไวย์เมื่อปี 2502 ต้นมะพร้าวสูงใหญ่ท่วมหัวแล้ว บ้านเรือนก็เต็มไปหมดในบริเวณนั้น นั่นคือภาพเหตุการณ์หลังจากมีการออก พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดินในปี 2497 ซึ่งห่างกันไม่กี่ปี เขาอยู่มาก่อนแน่นอน แต่ถามว่าชาวเลรู้เรื่องไหมเขาไม่รู้เรื่องหรอก” 

หลังจากประเทศไทยเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยว่าประกาศนโยบายการท่องเที่ยว จึงเป็นอีกจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะการท่องเที่ยว ความต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น

ชาวเลบางรายขายที่ดิน-พวกไม่ขายก็ถูกสั่งอพยพไปที่อื่น

“เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้น ความโลภก็เข้ามา ชาวเลก็ขายที่ดินของตัวเอง และบางรายไม่ขาย ก็ถูกบังคับให้ขาย หลักจากที่ดินมีราคาแพง กรมป่าไม้ก็ใช้อำนาจพิเศษ สั่งอพยพชาวเลที่อยู่ในเขตที่ประกาศหวงห้าม เช่น เอาคนเกาะอาดัง เกาะราวี ไปอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งบนเกาะมีเนื้อนี้เพียง 1,000 กว่าไร่ โดยไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอะไรมาสั่งอพยพ ชาวเลที่อพยพก็ต้องเป็นคนเร่ร่อน ทั้งที่เขามีสิทธิ์อยู่ในจุดที่เคยอยู่ก่อนรัฐประกาศเป็นที่หวงห้าม” พล.อ.สุรินทร์กล่าว

นอกจากการใช้อำนาจพิเศษสั่งอพยพชาวเลไปอยู่นอกพื้นที่ประกาศหวงห้าม กรมป่าไม้ยังประกาศใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ โดยนำระเบียบข้อบังคับอุทยานบนบก มาใช้กับอุทยานในทะเล โดยหากจะมีใครเข้าไปในพื้นที่ประกาศหวงห้ามต้องขออนุญาต ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลได้รับผลกระทบ และเปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่สามารถเข้าไปทำการประมงพื้นบ้านในพื้นที่เดิมที่เคยทำได้

รัฐใช้กฎหมายไล่คนอยู่ก่อนมีอุทยานฯ-ทั้งที่เป็นคนรักษาให้สมบูรณ์

พล.อ.สุรินทร์อธิบายว่า การกระทำของรัฐในช่วงนั้นเป็นการกระทำโดยไม่ชอบ เพราะชาวเลมีการครอบครองโดยชอบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ครองครองโดยมีเอกสารสิทธิ์โดยชอบ และ การครอบครองโดยอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีกฎหมายประกาศใช้ซึ่งเป็นการครอบครองโดยชอบ แต่กรมป่าไม้ ยึดหลักการครอบครองโดยเอกสารสิทธิ์ ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์หมายถึง อยู่โดยไม่ชอบ

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหา มีการหารือกับกฤษฎีกา หารือกับสภาทนายความ อัยการ และกรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอากฎหมายมาวางเรียงกัน แล้วดูว่าใช่หรือไม่ใช่ การที่ไปขับไล่เขา ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา มันไม่ถูกหลักการ เพราะเขาอยู่มาก่อน เขาดูแลป่า จนกระทั่งสามารถประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ สมควรขับไล่เขาไหม แต่ถ้าพื้นที่ไหน ต้องรักษาไว้จริงๆ ก็อาจจะต้องลิดรอนสิทธิ์ ก็ต้องหาพื้นที่อื่นให้เขา ไม่ใช่ให้ชาวบ้านเป็นผู้รับเคราะห์” พล.อ.สุรินทร์กล่าว

ระบุที่ดินราไวย์เป็นที่ดินสาธารณะฝังศพชาวเล นายทุนออกโฉนดทับ

กรณีปัญหาในพื้นที่หาดราไวย์ พล.อ.สุรินทร์ระบุว่า พื้นที่ชายหาดราไวย์และที่ฝั่งศพของชาวเล เป็นพื้นที่สาธารณะแน่นอน แต่นายทุนมากั้นกำแพง และอ้างว่าเป็นที่ดินมีโฉนด ทั้งที่โฉนดออกมาทับที่สาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีการออกโฉนดได้ ก็ทำกำแพงกั้นบางพื้นที่รัฐมากำหนดเขตที่ดินที่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ บีบเข้ามาในพื้นที่ฝั่งศพ ก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะชาวเลเขาเคยใช้ประโยชน์เป็นที่ฝั่งศพมาก่อน

นอกจากปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชาวเลโดยไม่ชอบแล้ว พล.อ.สุรินทร์บอกด้วยว่า การออกกฎระเบียบของรัฐ ที่เพียงต้องการใช้อำนาจบังคับ ยังเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิในการดำรงวิถีชีวิตของชาวเล เช่น กรณีเมื่อรัฐประกาศพื้นที่หวงห้ามทับพื้นที่ชาวเลแล้ว ยังออกกฎระเบียบหาทำมาหากินในพื้นที่ดังเดิมได้ มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ห้ามเขามาจับปลา โดยอ้างว่าเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และกั้นพื้นที่ในทะเลห้ามไม่ให้ชาวเลเข้ามาถ้าไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่ทะเลมีกฎหมายหลายฉบับ แต่กลับไปเอากฎหมายบกมาใช้กับทะเล

 

หน่วยงานรัฐแปลก ห้ามชาวเลจับปลา แต่กลับเปิดให้นักท่องเที่ยวดำน้ำ ดูปะการังได้

“ทำไมเมื่อประกาศเป็นที่หวงห้าม ยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาดำน้ำ ดูปะการังได้ แล้วไปจำกัดการทำมาหากินของชาวเล ไปรื้อลอก ที่เป็นอุปกรณ์ทำมาหากิน มีการฟ้องร้องเอาผิด อัยการก็บ้าจี้ตาม สั่งฟ้องศาล อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ชาวเลกลายเป็นชุมชนชั้นสอง ชั้นสามเรื่อยไป ทั้งที่ชาวเลเป็นผู้กำหนดเขตแดนประเทศไทย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า ชาวเลอยู่ในพื้นมาก่อนจะมีกฎหมาย แต่ทำไมการอยู่อาศัยของชาวเลไม่ถูกนำมาพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ

พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า เมื่อมีกฎหมาย ก็เอากฎหมายมาบังคับและยึดเอกสารเป็นสำคัญ ซึ่งในพื้นที่ชาวเล ทั้งหมด 5 จังหวัดที่มีปัญหา จะใช้กฎหมายที่เกิดทีหลังมาใช้ตรวจสอบและบังคับใช้ไม่ได้ เพราะเอกสารตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริง หรือความจริงที่เกิดขึ้นได้

แก้ปัญหาชาวเลต้องเอาความจริงมาตรวจสอบ ไม่ใช่กฎหมายซึ่งออกทีหลัง

“กรณีปัญหาที่ดินชาวเลจำเป็นต้องเอาความจริงมาตรวจสอบ ทั้งทางกว้าง ทางลึก เอาหลักฐานทั้งหมดขึ้นมาวางบนโต๊ะ และให้ทุกกลุ่ม ทุกคนมองว่าใช่ความจริงหรือไม่ การออกโฉนดเอกสารสิทธิ์ ทับที่ดินที่ชาวเลใช้ประโยชน์รวมกัน ทำได้อย่างไร อันนี้คือความจริง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องนำมาสร้างความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาที่ดินชาวเล” พล.อ.สุรินทร์กล่าว

พล.อ.สุรินทร์ระบุว่า หลักการแก้ปัญหาคือการเอาความจริง ที่คณะอนุกรรมการในชุดต่างๆ ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ทั้งข้อมูลเรื่องที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต เอาข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาวางบนโต๊ะ แล้วพิจารณาจากความจริง ว่าอะไรคือใช่ หรือไม่ใช่ ถ้าทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ ความจริงจะบอกว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร

“ในพื้นที่หาดราไวย์ มีการสำรวจได้ว่า เป็นที่อาศัยอยู่ของชาวเลมากกว่า 8 ชั่วอายุคน พบว่าอายุของต้นมะพร้าวที่พบในพื้นที่ อายุต่ำสุด 50ปี และอายุสูงสุด 120 ปี นี่เป็นหลักฐานที่เก็บข้อมูลได้ ยังมีหลักฐานผลตรวจ DNA ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า เป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิม และยังมีข้อมูลประเพณีวัฒนธรรม ข้อมูลพื้นที่ทางจิตวิญาณชาวเล ที่เป็นข้อเท็จจริงด้วย” พล.อ.สุรินทร์กล่าว

เมื่อถามว่า จากกรณีในพื้นที่หาดราไวย์ ที่มีที่ดิน 252 หลังคาเรือน มีชาวเลอาศัยอยู่ 2,000 กว่าคน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจสอบพื้นที่ 19 ไร่ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิ นิติวิทยาศาสตร์ และกรมศิลปากร ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นที่อาศัยของชาวเล ทำไมจึงยังไม่มีการดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หรือโฉนดที่ดิน

“กรมที่ดิน” ไม่กล้าเพิกถอน เพราะกลัวความจริงจะเปิดเผย

พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมา มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ว่าจะมีทิศทางแก้ปัญหาอย่างไร แต่เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในระดับพื้นที่ ไม่ทำหน้าที่ เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหา ทำให้เกิดความล่าช้า และที่เป็นประเด็นคือ ไม่อยากให้มีการสาวปัญหาของตัวเอง เพื่อกลัวว่าต้องรับผิดชอบ

“กรมที่ดินเป็นคนออกโฉนดให้กับเอกสาร ทำให้มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายมายืนยัน มาขับไล่ชาวเล เมื่อมีการตรวจสอบและเป็นมติของคณะกรรมการว่า ควรจะเพิกถอดเอกสารสิทธิ์ หรือโฉนดในพื้นที่นั้น กรมที่ดินก็ไม่ดำเนินการ เพราะตัวเองเป็นคนออกโฉนด ก็กลัวว่าความจริงจะเปิดเผย กลัวว่าจะถูกสาวปัญหา กลัวว่าต้องรับผิดชอบ ทำให้กรมที่ดินไม่กล้าจะเพิกถอดโฉนด แต่ต้องรอให้เกิดการฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งจึงจะเพิกถอดให้ ทั้งที่ตัวเองก็มีอำนาจเพิกถอดได้ ถ้ามีการออกโฉนดโดยไม่ชอบ” พล.อ.สุรินทร์กล่าว

 

กรณีพื้นที่หาดราไวย์ที่มีปัญหาล่าสุด พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า กรมที่ดินได้อ้างว่า ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แล้ว และได้รับการตอบกลับมาว่า ที่ดินในพื้นที่หาดราไวย์ชอบด้วยกฎหมาย ทางกรมที่ดินได้ส่งหนังสือกลับไปอีกครั้งว่า ขอให้นำข้อมูลในมิติอื่นๆ ที่ได้มีการตรวจสอบร่วมด้วย และยังมีการกล่าวอ้างว่า การเพิกถอนที่ดินเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ต้องมีการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นๆ ทำให้ที่ดินยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในเมื่อคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินชาวเล มาเป็นหน่วยงานกลางในการแก้ปัญหา แต่ทำไมกลับไม่มีอำนาจบังคับสั่งการ พล.อ.สุรินทร์เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ผู้ถือกฎหมาย ไม่ใช่หน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบในระดับพื้นที่ เพราะมีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เช่น กรมที่ดิน ฝ่ายปกครองในระดับจังหวัด อำเภอ มีกฎหมายที่สามารถดำเนินการ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการ ส่วนคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินชาวเล จะเป็นหน่วยงานกลางกำหนดทิศทางแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม

“ผมอยากถามว่า ทำไมไม่ดำเนินการ นี่เป็นเรื่องยากที่หน่วยงานในระดับพื้นที่ไม่ทำงาน เพิกเฉยต่อหน้าที่ที่ต้องแก้ปัญหา อาจเพราะทุกคนกลัวที่จะต้องรับผิดชอบ เมื่อความจริงถูกเปิดเผย หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานเดียวกัน ก็ไม่กล้าทำร้ายกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว ความเป็นมหาดไทย คือ ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุข ถามว่าได้ทำหน้าที่นี้แล้วหรือยัง”

พล.อ.สุรินทร์กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจปัญหาและบริบทของหน่วยงานรัฐดีว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ใครจะต้องรับผิดชอบก็กลัวว่าจะถูกเอกชนที่ถือโฉนดฟ้องร้อง เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือมาหลายมือ ทำให้การแก้ปัญหาที่ดินชาวเลที่ผ่านมา มีการเสนอให้รัฐบาลซื้อคืนที่ดินจากเอกสารที่ถือโฉนดปัจจุบัน แล้วคืนที่ดินให้กับชาวเลเสีย ค่อยมาไล่บี้หาคนผิด ในเวลานั้นก็เหมือนว่า ทุกหน่วยงานจะเห็นด้วย สุดท้ายเมื่อมาถึงการลงมือปฏิบัติก็เหมือนเดิม คือไม่มีใครทำอะไรในระดับพื้นที่ จึงยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ค้างคา ทั้งระหว่างเอกชนกับชาวเลและหน่วยงานรัฐกับชาวเล

“ปัญหาที่ดินชาวเล ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเลย ถ้าหน่วยงานฝ่ายปกครองในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่มหาดไทย อย่างจริงจัง เต็มที่ ปัญหาชาวเลจะถูกแก้ไขไปแล้ว 80 เปอร์เซนต์ แต่ที่ไม่เกิดการแก้ปัญหาเลย เพราะไม่ได้ใช้ความเป็นมหาดไทย ที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างความเป็นธรรมในการแก้ปัญหา เมื่อมีมติคณะกรรมการตรวจสอบแล้วเห็นว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ควรเพิกถอนโฉนดก็ต้องไปดำเนินการ ผมไม่สามารถยกเลิกโฉนดเองได้ ผมไม่สามารถรื้อกำแพงเองได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

แม้ว่าคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินชาวเล ที่พล.อ.สุรินทร์เป็นประธาน จะเดินหน้าทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่ดินให้กับชาวเล มากว่า 1 ปี หลังจากที่มีการแต่งตั้งจาก คสช. เมื่อกลางปี 2557 และมีหลักการที่ค่อนข้างชัดเจนถึงวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานรัฐ ที่ยังคงต้องพิสูจน์การทำหน้าที่ของตัวเอง จนกว่าปัญหาที่ดินชาวเลจะถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม


เสาวนีย์ นิ่มปานพยุงวงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

 

 

 ข้อมูลที่น่าสนใจ

“ชาวเล” เป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐาน หาอยู่หากินในพื้นที่ทะเลอันดามันมากว่า 300 ปี ได้รับผลกระทบ ทั้งทางด้านการหากินในทะเล ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ประกอบพิธีกรรมความเชื่อถูกรุกราน และคุณภาพชีวิตตกต่ำลง

ด้วยวิถีการดำรงชีวิตที่รักสงบ ที่ผ่านมาจึงไม่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐ แต่หลังจากประสบภัยสึนามิ ปี 2547 ปัญหาต่างๆ ได้เปิดเผยออกสู่สาธารณะ ทั้งเรื่องการไล่ที่ การยึดพื้นที่พิธีกรรม ทั้งจากรัฐและเอกชนที่อ้างเอกสารสิทธิเหนือชุมชนชาวเล

เดิมรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ.2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

ผ่านมากว่า 5 ปี นับตั้งแต่มี มติครม.ปี 2553 พบว่าสภาพปัญหาของชาวเล กลับหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะ ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ จ.ภูเก็ต ถูกฟ้องขับไล่จากเอกชนที่อ้างสิทธิในที่ดินถึง 101 ราย ต้องขึ้นศาลและบางรายถูกตัดสินให้แพ้คดีในฐานะเป็นผู้บุกรุก

ขณะเดียวกันชาวเลเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมคุ้มครองสิทธิ นิติวิทยาศาสตร์ และกรมศิลปากร ทำการพิสูจน์การอยู่อาศัยของชาวเล โดยการขุดกระดูกตรวจหา DNA ระหว่างชาวเลปัจจุบันกับบรรพบุรุษ ผลการพิสูจน์พบการเชื่อมโยงที่ชัดเจนทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาระหว่างเอกสารสิทธิการถือครองที่ดิน กับสิทธิของชนเผ่าดั้งเดิม รวมทั้ง ชุมชนชาวเกาะสิเหร่ ก็ถูกเอกชนอ้างสิทธิเหนือชุมชนชาวเล เริ่มมีการฟ้องร้องขับไล่เช่นกัน

ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นกลุ่มที่อาศัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2452 และเป็นกลุ่มคนที่ทำให้มีข้อยุติลงว่าเกาะหลีเป๊ะและหมู่เกาะใกล้เคียง เป็นดินแดนไทยไม่ใช่มาเลเซีย เพราะการแสดงตัวของพวกเขาว่าเป็นคนไทย แต่ปัจจุบันชาวเลเกือบทั้งหมด กลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งจากการประกาศเขตของอุทยานฯ การออกเอกสารสิทธิทับที่และการพัฒนาการท่องเที่ยว นำไปสู่การแย่งสิทธิที่ดินชาวเล ด้วยวิธีการต่างๆ

ชาวเลที่เกาะพีพี จ.กระบี่ 40 ครัวเรือน ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะไร้ที่อยู่อาศัยเพราะเอกชนต้องการที่ดินเพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีชาวเลที่อุทยานฯ ประกาศทับที่ซึ่งชาวเลอาศัยอยู่เดิม เช่น ชุมชนชาวเลเกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะบูโหลน จ.สตูล ชุมชนชาวเลจังหวัดพังงา ที่มีการประกาศเขตอุทยานฯ ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่มีการกันชุมชนและพื้นที่ทำกินของชาวเลออกให้ชัดเจน มีแนวโน้มทำให้เกิดความขัดแย้งระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาการจับกุมและฟ้องขับไล่ ข่มขู่ชาวเลเป็นระยะ

ปัจจุบันถูกห้ามมิให้เข้าไปหาแร่ ทั้งที่ชาวเลมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง รวมทั้งการหากินแบบดั้งเดิม บริเวณพื้นที่ชายหาดและป่าชายเลน เช่น การตอกหอยติบ การหาเพรียง ก็ถูกห้ามเช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ พื้นที่พิธีกรรมและสุสานของชุมชนชาวเล กำลังถูกรุกราน จากการพัฒนาการท่องเที่ยว 15 แห่ง เช่น การตัดถนน ทางเดินทับสุสานบนเกาะพีพี การออกเอกสารทับ และสร้างรั้วกั้นพื้นที่สุสานที่ชุมชนเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต การอ้างสิทธิและห้ามฝังศพ ที่สุสานเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล การไถที่และอ้างสิทธิบนสุสาน โต๊ะบอแหน เกาะลันตา จ.กระบี่ รวมทั้ง สุสานปากวีป และสุสานบ้านทุ่งหว้า จ.พังงา

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย ที่ทำกินเท่านั้น ชาวเลยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องอื่น ๆ ตามมา เช่น ภาษาและวัฒนธรรมกำลังสูญหายชาวเลกลายเป็นผู้ไร้สัญชาติอีกกว่า 500 คน รวมทั้งปัญหาการศึกษา พบว่า ชาวเลโดยส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยม และมีผู้ที่จบปริญาตรีในจำนวนที่น้อยมาก

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี 2553 หลังจากนั้น 4 ปี ผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล มีความคืบหน้าเมื่อกลางปี 2557 เพราะมีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญาณ โดยมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการอยู่อาศัย การออกเอกสารสิทธิ ฯลฯ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล
1.การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ
2.การแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพประมงของชุมชนชาวเล โดยทำข้อตกลงเรื่องการใช้เครื่องมือประมงแบบดั้งเดิม 18 ชนิด เพื่อใช้ในเขตตกลงผ่อนปรน เป็นต้น

ปัญหาข้างต้นเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและการประกาศเขตของรัฐ ที่เป็นต้นเหตุของการแย่งยิงทรัพยากรจากชนพื้นเมืองดั้งเดิม จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมอย่างมาก

ข้อเสนอของชาวเล เริ่มขึ้นจากงานรวมญาติชาวเลที่จัดขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 โดยชาวเลทั่วประเทศเสนอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้ง จัดทำเขตพื้นที่สังคมวัฒนธรรมพิเศษของชาวเล สร้างนโยบายการพัฒนาที่สมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตชาวเลกับการพัฒนา ดังนี้
1.ประกาศพื้นที่รัฐ 31 แห่ง ซึ่งชาวเลอาศัยอยู่ก่อน เป็น 'สิทธิร่วมของชาวเล'
2.ประกาศพื้นที่พิธีกรรม / สุสาน 15 แห่ง เป็น 'เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของชาวเล' และการจัดทำแผนที่ขอบเขตและรั้วป้องกันการบุกรุก
3.เร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน 4 ฉบับ คือกฎหมายสิทธิชุมชน กฎหมายธนาคารที่ดิน กฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้า กฎหมายกองทุนยุติธรรม
4.ให้มีนโยบายชะลอการบังคับคดีชุมชนชาวเลบ้าน ราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ
5.กรณีกองทุนยุติธรรมที่สนับสนุนชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ขอให้การเบิกจ่ายงวดเร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนในนามชุมชน แทนการเบิกจ่ายรายคน เพราะ ถูกฟ้องคดีแล้วถึง 101 ราย
6.ให้มีคำสั่งคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ไม่ให้มีการตัดโค่นต้นไม้ที่ชาวเลปลูก เช่น มะพร้าว ซึ่งเป็นหลักฐานการพิสูจน์สิทธิของชาวเลให้การคุ้มครองพื้นที่ชายหาดซึ่งชาวเลใช้เป็นพื้นที่จอดเรือ และคานซ่อมเรือมาตั้งแต่ดั้งเดิมสั่งการให้ตำรวจส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะ รับแจ้งความ และดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งปกป้องคุ้มครองชาวเลทุกกรณี รวมทั้งยุติการข่มขู่คุกคามชาวเล เป็นต้น
7.ให้มีคำสั่งคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลทับตะวัน จ.พังงา กรณีขุมน้ำเขียว ที่จอดเรือหาปลาหน้ามรสุมของชาวเลมายาวนานแต่มีเอกชนอ้างสิทธิ เสนอให้คุ้มครองชาวเลไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคาม และเร่งตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ
8.ให้คุ้มครองพื้นที่ร่อนแร่ อันเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวเล ซึ่งเป็นรายได้เสริมในช่วงหน้ามรสุมที่ออกทะเลไม่ได้

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ชาวเลได้ส่งตัวแทนไปยื่นข้อเสนอ กับ ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายก ที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยความเชื่อมั่นว่า การต่อสู้อันยาวนานเพียงเพื่อให้พี่น้องลูกหลานชาวเลได้อาศัยหาอยู่หากินอย่างมั่นคง ตามหลักสิทธิมนุษยชนและปฏิญญาสากล เป็นข้อเสนอแบบชาวเล เป็นการปฏิรูปที่กินได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบันยังมีชุมชนชาวเล ที่กำลังมีปัญหาข้อพิพาทขัดแย้งในลักษณะเดียวกับที่ชาวเลหาดราไวย์กำลังเผชิญอยู่ ได้แก่
- ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ 250 หลังคาเรือน
- ชุมชนชาวเลเกาะสิเหร่ 540 หลังคาเรือน
- ชุมชนชาวเล เกาะพีพี 33 หลังคาเรือน
- ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ 185 หลังคาเรือน
- ชุมชนชาวเลเกาะอาดัง 40 หลังคาเรือน
- ชุมชนชาวเลเกาะบุโหลน 103 หลังคาเรือน
- ชุมชนชาวเลบ้านทับปลา จ.พังงา 77 หลังคาเรือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง