วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราเสร็จแล้ว รวม 13 หมวด 261 มาตรา แต่ยังคงเว้นการพิจารณา “บทเฉพาะกาล” ไว้ เนื่องจากเนื้อหาจะต้องพิจารณา กรอบที่ว่าด้วยการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการรอความเห็น
ล่าสุดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องมีส่วนร่วมกันทุกฝ่าย คือ ส.ส.,ส.ว.และประชาชน และยังคงวางข้อบัญญัติให้การแก้ไขในหมวดทั่วไป, พระมหากษัตริย์,หลักเกณฑ์การแก้รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญและอำนาจของศาล ต้องทำประชามติ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ข้อบัญญัติที่ว่าด้วย “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ บังคับแก่กรณีใดให้วินิยฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ ปี 2540 และถูกหยิบยกไปตีความแตกต่างกันไป จึงสรุปให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
“เราเองเห็นว่าไม่ควรเขียนหรอก แต่คนก็เป็นห่วงว่า ถ้าไม่เขียนแล้วถ้าเกิดติดขัดแล้วจะทำยังไง เราก็เลยเอาไปเขียนในที่ที่มันควรจะอยู่ ถ้าถามว่าเมื่อมีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้น ใครจะเป็นคนชี้ คอบตอบก็คือศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นจะเป็นคนชี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคนดูรัฐธรรมนูญทั้งหมด” นายมีชัยกล่าว
นอกจากนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังกำหนดเป็นข้อบัญญัติให้แต่ละองค์อรอิสระ มีอำนาจหน้าที่เชื่อมโยงต่อกัน ส่งต่อข้อมูลการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและรวดเร็วได้ พร้อมทั้งเขียนข้อบัญญัติเพิ่มเติมให้องค์กรอิสระทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งกรณีพบว่าเข้าข่ายความผิดสามารถลงไปตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องมีเรื่องร้องเรียนและหากเป็นกรณีที่เห็นว่ารัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการบางอย่างแล้วอาจจะสร้างความเสียหายได้นั้น สตง. ป.ป.ช.และ กกต.จะมีอำนาจร่วมกัน เปิดหารือและส่งความเห็นเป็นมติ เพื่อแจ้งและระงับยับยั้งได้